ในช่วงที่มีการคิดค้นเครื่องจับเท็จขึ้น มันถูกมองว่าเป็นไพ่ตายสำหรับจัดการกับคนโกหก ที่ไม่ว่าคนจะพูดอะไรมา เจ้าเครื่องนี้ก็จะสามารถจับเอาการโกหกออกมาได้ไม่ยาก
แต่เมื่อเวลาผ่านไปคนเราก็มีข้อสงสัยกับการทำงานของเจ้าเครื่องนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จะเกิดอะไรขึ้นหากคนที่พูดความจริงกังวลจนเครื่องจับเท็จบอกว่าเขาโกหก และจะเกิดอะไรขึ้นหากคนโกหกเชื่อมั่นในคำโกหกของเขาจริงๆ
นั่นทำให้ ดั๊ก วิลเลียมส์ ชายผู้เข้าร่วมกรมตำรวจโอกลาโฮมาในปี 1972 ผู้ซึ่งได้รับใบรับรองในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการทดสอบเครื่องจับเท็จ ต้องออกมาบอกว่า เครื่องจับเท็จไม่สามารถเชื่อถือได้เสมอไป เพราะเขามีวิธีที่จะหลอกเครื่องโกหกอย่างง่ายๆ อยู่นั่นเอง
“ผมสงสัยในตัวเครื่องหลังจากเข้าร่วมการทดลองได้ระยะหนึ่ง ผมรู้ว่าคนเราควบคุมการหายใจได้ แต่ผมคงไม่สามารถควบคุมการเต้นของหัวใจ หรือความดันโลหิตได้หรอก” ดั๊ก วิลเลียมส์เล่าถึงเหตุผลที่เขาค้นพบวิธีการหลอกเครื่องโกหก “แต่ในวันหนึ่งเพื่อนของผมจู่ๆ ก็เข้ามาพูดเรื่องที่ว่าคนเราจะเกร็งกล้ามเนื้อที่รูทวารในตอนที่เครียด”
ใช่แล้วเทคนิคง่ายๆที่ดั๊ก วิลเลียมส์ใช้ในการหลอกเครื่องจับเท็จ ก็คือการเกร็งรูทวารหนักนั่นเอง เขาบอกว่าการเกร็งรูทวารแบบการหยุดอุจจาระกลางคันนั้น จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจ และการตอบสนองทางผิวหนังโดยการนำกระแสไฟ (GSR) เพิ่มขึ้นอย่างเป็นธรรมชาติ
แม้ว่าดั๊ก วิลเลียมส์จะไม่ได้บอกว่าการทำเช่นนั้นจะได้ผลในการเปลี่ยนคำโกหกให้กลายเป็นความจริง หรือเปลี่ยนความจริงให้กลายเป็นคำโกหก แต่ดูเหมือนว่าการออกมาเปิดเผยของดั๊ก วิลเลียมส์ในครั้งนี้ จะทำให้เขาถูกฟ้องร้องในข้อหาขัดขวางกระบวนการยุติธรรม และฉ้อฉลจากทางกรมตำรวจไป
อย่างไรก็ตามดั๊ก วิลเลียมส์ได้บอกว่าการจะหลอกเครื่องจับเท็จอย่างสมบูรณ์นั้นต้องใช้ ปัจจัยหลายอย่าง และการเกร็งรูทวารเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น คนที่จะผ่านเครื่องจับเท็จได้นั้นจำเป็นต้องมีการฝึกฝน และใช่ว่าทุกคนจะสามารถทำได้นั่นเอง
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.