สำรวจตัวเอง “Hoarding Disorder” โรคขี้เสียดาย ทิ้งของไม่ได้ สะสมจนเป็นภัยต่อตัวเอง…

เมื่อคนเรามีความชื่นชอบในบางสิ่งบางอย่าง สิ่งของที่มีมูลค่าราคาแพงทั้งทางด้านการเงินและจิตใจ ก็มักจะมีการเก็บสะสมเอาไว้เชยชมเป็นธรรมดาทั่วไป ใครๆ เขาก็ทำกัน

สิ่งของธรรมดาๆ ก็เช่นเดียวกันที่มักจะมีคนเก็บสะสมไว้ แต่เมื่อมีจำนวนมากในระดับหนึ่ง บางคนก็ต้องมีการโล๊ะบางส่วนออกไป ส่วนบางคนอาจจะเก็บเพิ่มต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จนกลายเป็นล้นจนแทบไม่มีทางเดินในบ้านกันเลยทีเดียว

 

 

อาการเก็บสะสมของแบบไม่ยอมโละทิ้งก็คือ Hoarding Disorder ที่มักจะเห็นประจำกันผ่านโทรทัศน์อยู่บ่อยๆ ยังถือว่าเป็นโรคทางจิตเวชชนิดใหม่ในประเทศไทยด้วย

ทั้งนี้ยังไม่มีชื่อเรียกภาษาไทยอย่างเป็นทางการแต่ด้วยลักษณะของโรคมักจะเรียกว่า “โรคเก็บสะสมของ โรคทิ้งไม่ลง โรคทิ้งไม่เป็น” ฯลฯ

 

 

จากผลการศึกษาในต่างประเทศ โรคเก็บสะสมของนี้จะพบในบุคคลทั่วไปประมาณ 2-5% และบุคคลที่ประสบกับโรคนี้ส่วนใหญ่มักจะเป็นโสด (แน่นอนว่าลักษณะนิสัยแบบนี้จะเข้าใจได้ว่าทำไมถึงโสด)

 

อาการของโรค

การเก็บสิ่งของเป็นจำนวนมากจนหาที่เก็บไม่ได้ ล้นออกมาถึงทางเดินภายในบ้าน รู้สึกตัดสินใจยากที่จะเลือกทิ้งของที่เก็บมา คือสัญญาณแรกของและเป็นอาการเบื้องต้นของโรค จะเริ่มเกิดขึ้นในช่วงวัยรุ่นจนถึงวัยผู้ใหญ่ต้นๆ

ยิ่งอายุมากขึ้น บุคคลที่เป็นโรคนี้จะเริ่มเก็บของที่ไม่จำเป็นต่อชีวิต เอามาวางกองไว้ในบ้านมากขึ้น เพราะมักคิดว่าเดี๋ยวต้องได้ใช้

เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยกลางคนอาการของโรคก็ยิ่งหนักจนยากแก่การรักษาให้หายได้ ปัญหาทางจิตดังกล่าวจะเรื้อรังจนกลายเป็นนิสัย

 

 

สัญญาที่บ่งบอกว่าเป็นโรค

– เก็บสิ่งของที่ไม่จำเป็นต่อชีวิตเอามาไว้ในบ้าน หรือเก็บสิ่งของมาเพิ่มทั้งๆ ที่ไม่มีที่เก็บ

– ตัดสินใจลำบากที่จะทิ้งของที่เก็บ ไม่ว่าจะมีค่าหรือไม่ก็ตาม

– มีความรู้สึกอยากเก็บของเหล่านี้เอาไว้ตลอด หากคิดถึงเรื่องทิ้งจะรู้สึกหงุดหงิด

– เอาของมากองไว้จุดหนึ่งของห้อง ถมกินพื้นที่จนใช้งานห้องนั้นไม่ได้ เยอะจนรบกวนชีวิต

– มีปัญหาทางด้านการตัดสินใจ การวางแผนและการจัดการ

 

 

สาเหตุของโรค

ยังไม่มีผลการศึกษาที่สามารถระบุสาเหตุได้อย่างแน่ชัด เนื่องจากยังเป็นโรคที่ค่อนข้างใหม่ แต่โดยรวมคาดว่ามาจากพันธุกรรม ความผิดปกติของประสาทสมอง และความเครียด

เช่นหากบุคคลในครอบครัวมีพฤติกรรมดังกล่าว จะสืบเชื้อมาได้จากสายเลือดโดยตรง บ้างอาจจะเป็นกลไกทางจิตชดเชยการเก็บของไว้เยอะๆ เพื่อความสบายใจ

 

 

สิ่งของที่พบได้บ่อย

สิ่งของสะสมที่พบบ่อยให้ผู้ป่วยมักจะเป็น สื่อสิ่งพิมพ์ ถุงพลาสติก เสื้อผ้า ขวดน้ำ แตกต่างจากการเก็บของของคนทั่วไปที่มีการจัดระเบียบและมีจำนวนที่เหมาะสม

อย่างเช่น จัดหนังสือไว้ในตู้อย่างเป็นระเบียบในจำนวนที่พอดี (และโละหนังสือเก่าทิ้งได้) จะไม่เข้าข่ายของโรคนี้

ส่วนสิ่งของอื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างเช่น สะสมขยะ เศษอาหาร จะก่อให้เกิดความสกปรกและการติดเชื้อของโรคต่างๆ ตามมา

 

 

การรักษา

กลุ่มผู้ป่วยพฤติกรรมนี้สามารถรักษาได้ด้วยยากลุ่มต้านเศร้า แต่เห็นผลได้น้อยมากเมื่อเทียบกับวิธีการให้คำปรึกษา เพื่อปรับเปลี่ยนลักษณะนิสัย

สอนให้ตัดใจทิ้งของที่ไม่จำเป็น จัดระเบียบชีวิตด้วยการเริ่มจัดระเบียบสิ่งของ ใช้ระยะเวลาในการรักษาแล้วแต่กรณี บางรายอาจใช้เวลาแค่ไม่กี่เดือน หรือนานหลายปี

 

ที่มา: mayoclinicadaa, psychiatry

Comments

Leave a Reply