Lhakpa Sherpa คือชื่อของหนึ่งในผู้พิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ และเป็นผู้หญิงที่สามารถทำสถิติปีนถึงยอด 9 ครั้งด้วยกัน นับว่าเป็นสถิติที่มากกว่านักปีนเขาหญิงทุกคนไม่ว่าจะมีชีวิตอยู่หรือเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม
ความกระหายในการพิชิตยอดเขาเอเวอเรสต์ของเธอยังไม่หมดเสียทีเดียว ด้วยอายุ 45 ปีในปัจจุบัน เธอได้ตั้งเป้าหมายในการพิชิตยอดครั้งที่ 10 เอาไว้ในปี 2019 แล้ว
ในระหว่างที่กลับมาใช้ชีวิตตามวิถีปกติ Sherpa นั้นไม่ได้เข้ายิมหรือฝึกฝนร่างกายให้ทนกับสภาพอากาศแบบสุดขั้ว แต่เธอเลือกที่จะทำงานตามปกติ ด้วยงานล้างจานและเก็บกวาดขยะ 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ภายในร้าน Whole Foods รัฐคอนเนตทิคัต สหรัฐอเมริกา
ภาระของเธอนั้นยังมีลูกสาว 2 คนที่ต้องดูแล ปัจจุบันในวัย 11 และ 16 ปี ค่าแรง 11.50 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (384 บาท) นั้นไม่ได้เป็นปัญหาในการส่งลูกสองคนเรียนหนังสือและช่วยยังชีพให้กับครอบครัวได้ แถมยังมีเงินเหลือเดินทางไปปีนเขาได้อีก
ในวัยเด็กของ Sherpa ตอนที่ยังอาศัยอยู่ในประเทศเนปาล จากครอบครัวที่มีพี่น้องทั้ง 10 คน แม้จะไม่ได้รับการศึกษาตามระบบปกติทั่วไป แต่ธรรมชาติก็เป็นครูสอนวิถีการใช้ชีวิตให้กับเธอ เรียนรู้วิธีการปีนเขาและเอาตัวรอดมาได้ จนกระทั่งมีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดนั่นก็คือยอดเขาเอเวอเรสต์
ในวัย 15 ปี เธอเริ่มต้นการพิชิตยอดเขาหิมาลัย พร้อมกับแบกอุปกรณ์ยังชีพต่างๆ ขึ้นไปด้วย จากนั้นจึงตามมาด้วยการพิชิตยอดเขากันเจนชุงคา เรียนรู้วิธีการเอาตัวรอดเพิ่มเติมจากคุณพ่อ ออกไปฝึกปีนเขา 7 ชั่วโมงต่อวัน 6 วันต่อสัปดาห์ จนกระทั่งสามารถพิชิตยอดเอเวอเรสต์ครั้งแรกด้วยอายุ 27 ปี
“ฉันรู้สึกเสพติดภายในร่างกาย ถ้าหากว่าไม่ได้ปีนเขาจะรู้สึกไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก ฉันชอบที่จะไปปีนเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่า” Sherpa ให้สัมภาษณ์กับทาง Business Insider
การเตรียมตัวของเธอนั้นไม่ได้ทำอะไรมากตอนที่อยู่ในสหรัฐฯ นอกเสียจากการเก็บกวาดขยะและล้างจานจากงานประจำ แต่เธอเชื่อว่าผู้หญิงแกร่งอย่างเธอ สามารถปีนเขาได้ดีกว่าผู้ชาย เพราะส่วนใหญ่แล้วจะมีความระมัดระวังและความรอบคอบที่มากกว่า
หากว่าสามารถพิชิตยอดเขาเล็กๆ มาได้แล้ว นั่นก็หมายถึงความพร้อมที่จะพิชิตในระดับต่อไป เนื่องจากจะสามารถประเมินได้คร่าวๆ ว่าสามารถไปต่อได้มากแค่ไหน
หากปีนขึ้นยอดเขาในระดับที่สูงขึ้นจนรู้สึกไม่สบาย ปวดหัว วิงเวียน (รวมทั้งอาการอาเจียน) ให้กลับลงมาปรับสภาพร่างกายตัวเองดีกว่าการฝืนปีนขึ้นไป
ทั้งนี้ก็เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการปีนเข้าสู่โซนอันตราย ที่คร่าชีวิตนักปีนเขามาแล้วนับหลายร้อยชีวิตที่ความสูง 8,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล
ด้วยระดับออกซิเจนที่น้อยกว่าปกติ จะก่อให้เกิดภาพหลอนกับนักปีนเขา ทำการฉีกเสื้อผ้าท่ามกลางอุณหภูมิเยือกแข็ง หรือพูดคุยกับเพื่อนร่วมทางที่ไม่มีตัวตน…
อย่างไรก็ตาม แม้จะทุบสถิติการพิชิตยอดเอเวอเรสต์ของตัวเองไปแล้ว ความกระหายในการพิชิตยอดเขายังคงไม่หมดไป ในปี 2019 เธอจะกลับไปอยู่บนยอดเขาอีกครั้งและจะเป็นครั้งที่ 10 ของเธอที่จะกลับไปเยือนยอดเขาจากครั้งแรกที่เกิดขึ้นในปี 2000
ที่มา: outsideonline, businessinsider, apnews
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.