ตั้งแต่ปี 2558 ที่ผ่านมา เราน่าจะเคยเห็นบทความเกี่ยวกับ “ซีพี ออลล์” กับดราม่าเรื่องก็อปปี้สินค้าขนมบานาน่า จนเกิดดราม่าในโลกออนไลน์
เรื่องราวที่ดำเนินมาตลอด 3 ปี เหมือนจะได้ข้อยุติในปี 2561 นี้ ท่ามกลางข่าวที่ออกมาว่า “ซีพี ออลล์ ชนะคดี”
แท้จริงแล้วคดีความดังกล่าวเกี่ยวข้องกับอะไร?? แล้วเรื่องทั้งหมดมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่??
ทางแคทดั๊มบ์จึงอยากจะสรุปเนื้อหาเพื่อให้ผู้รับข่าวสารเกิดความเข้าใจเรื่องที่เกิดขึ้นจริง ไม่ให้คลาดเคลื่อนไปตามกระแสสังคมอีก
ไทม์ไลน์ของเหตุการณ์
– ย้อนกลับไปในปี 2558 คุณชิน เขียนบทความในทำนองว่า บริษัทเป็นบริษัทใหญ่รังแกผู้ค้ารายย่อยที่เอาขนมไปขายในร้าน 7-Eleven ด้วยการคัดลอกสูตรไปทำเอง
– บทความดังกล่าวกลายเป็นกระแสทันทีตั้งแต่วันแรกที่โพสต์
– ต่อมาบริษัทซีพี ออลล์ แจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทแก่คุณชิน ฐานทำให้ภาพลักษณ์บริษัทเสื่อมเสีย
– คุณชิน ให้การสารภาพในชั้นศาลว่ารับข้อมูลมาจากนางสาว พ. อีกที แล้วเขียนลงไปโดยไม่ได้ตรวจสอบว่าจริงเท็จแค่ไหน
– บริษัทซีพี ออลล์ ก็แสดงหลักฐานในชั้นศาลว่าไม่ได้มีการเอาเปรียบผู้ค้ารายย่อยตามที่เขียนไว้ในบทความ
– คุณชิน จึงทำหนังสือขอโทษบริษัทซีพี ออลล์ต่อหน้าศาล
– จากนั้นทั้ง 2 ฝ่ายทำการประนีประนอมกัน โดยมีเงื่อนไขที่ว่า คุณชินจะเผยแพร่บันทึกประนีประนอม และเอกสารย่อคำฟ้องคดีอาญา ลงบนเว็บไซต์บล็อกต้นเหตุภายใน 7 วัน เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 8 เดือน
เรื่องเหมือนจะจบลงด้วยดี แต่…
– เวลาผ่านไป คุณชินไม่ได้ลงบทความบนบล็อกตามที่สัญญาต่อหน้าศาล
– เพื่อให้ข้อเท็จจริงปรากฏต่อสังคมบริษัทซีพี ออลล์ จึงยื่นฟ้องคุณชินอีกครั้ง คราวนี้เป็นข้อหาผิดสัญญา
– ศาลพิจารณาแล้ว เห็นว่าผิดสัญญาที่ทำไว้จริง คราวนี้จึงสั่งให้ลงเนื้อหาภายใน 7 วัน และคงบทความไว้ไม่น้อยกว่า 8 เดือนอีก ชดใช้ค่าเสียหายอีก 80,000 บาท
– นี่จึงเป็นที่มาของข่าว “ซีพี ออลล์ ชนะคดี” ซึ่งแน่นอนว่าคดีทั้งหมดยังไม่จบ
– เพราะในส่วนของคนที่ให้ข้อมูลคุณชินมาอีกต่อหนึ่ง ทางบริษัทจึงแจ้งความข้อหาหมิ่นประมาทแก่คนให้ข้อมูลนั้น
– ปัจจุบันเรื่องดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวน ยังไม่สิ้นสุดกระบวนการศาล
จากคำตัดสินของศาล ทำให้สังคมได้เห็นว่า สิ่งที่คุณชินเขียน นั้นเป็นข้อมูลที่รับต่อมาอีกทีหนึ่ง และทำบทความโดยที่ไม่ได้ตรวจสอบ ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด ซึ่งบริษัท ซีพี ออลล์ ก็ได้แสดงหลักฐานในการดำเนินคดีว่าไม่ได้มีการกระทำเอาเปรียบผู้ประกอบการดังกล่าว และไม่ได้มีการคัดลอกสินค้าอย่างที่เขียนในบทความ
ประเด็นชวนขบคิด กระแสสังคม vs สิ่งที่เกิดขึ้นจริง
เรื่องนี้เราจะเห็นว่า ในวันที่มีการเขียนบทความแรกสุดขึ้นมานั้น เนื้อหาถูกส่งต่ออย่างรวดเร็วในแทบจะทันที
กลายเป็นกระแสไวรัลในทุกเว็บข่าว เว็บบอร์ด หรือกระทั่งสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊ก
ไม่ว่าตอนนั้นจะเป็นเรื่องจริงหรือไม่ก็ตาม คนจะตัดสินด้วยความคิดตัวเองในตอนแรกทันที
เมื่อพูดถึงในเรื่องแบบนี้ มักจะวนเข้าสู่ “ความถูกใจ” มากกว่า “ข้อเท็จจริง”
หากกระแสคนส่วนมากมองว่าการทำแบบนี้คือสิ่งที่ผิด ก็จะตีตราตัดสินไปโดยที่ไม่มีการใช้เหตุผลหรือหลักฐานใดๆ มาประกอบ
พอเสร็จสมตามอารมณ์ที่คิดเอาไว้แล้ว จะปล่อยผ่านมันไป โดยไม่สนใจในสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับใครบ้าง แล้วไปตามกระแสฮิตอื่นๆ ต่อ
ต่อให้เกิดการรื้อฟื้นเรื่องขึ้นมาใหม่ ที่พลิกผลลัพธ์เป็นในทางที่ตรงกันข้าม ก็จะไม่ให้ความสนใจกับเรื่องที่เคยเป็นประเด็นใหญ่ในครั้งก่อนแล้ว
เพราะเคยออกตัวตัดสินไปและพอใจกับ “สิ่งที่ตัวเองคิดว่าถูกต้อง” ไปแล้วนั่นเอง
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.