ตลอดประวัติศาสตร์ของมนุษย์ เราได้พบการสังหารหมู่อยู่หลายครั้ง ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลจากสงคราม การแย่งชิงพื้นที่ หรือการแบ่งแยกเผ่าพันธุ์ ประวัติศาสตร์ก็เปื้อนไปด้วยเลือดเสมอมา
ว่าแต่เคยสงสัยไหมว่าการสังหารหมู่ที่เก่าแก่ที่สุดมันเป็นอย่างไรกัน?
นี่คือหนึ่งในฟอสซิลโครงกระดูกของชนเผ่าเร่ร่อน ที่มีอายุราวๆ 10,000 ปี ซึ่งมีการขุดพบที่ แหล่งโบราณคดี “Nataruk” ห่างออกไปจากทะเลสาบเทอร์คานาในประเทศเคนย่าราวๆ 30 กิโลเมตร
โครงกระดูกที่ถูกพบนั้นมีอยู่อย่างน้อยๆ 27 ร่าง และทั้งหมดล้วนแต่มีร่องรอยของการถูกทุบด้วยของแข็ง หรือถูกโจมตีด้วยธนู ทำให้นี่กลายเป็นการสังหารหมู่ที่เก่าแก่ที่สุดเท่าที่เคยมีการขุดพบบนโลกใบนี้ไป
ในบรรดาโครงกระดูกนั้นเป็นผู้หญิงอยู่ 8 ร่าง และมีโครงกระดูกของเด็กอีกราวๆ 6 ร่าง แถมหนึ่งในผู้หญิงเหล่านั้นยังเป็นหญิงท้องแก่อีกด้วย สะท้อนให้เห็นถึงความไร้ปรานีของฝั่งผู้โจมตีได้อย่างดี
หนึ่งในโครงกระดูกของผู้หญิงที่ถูกพบ มีร่องรอยของการโดนมัดมือก่อนที่จะถูกสังหาร
แม้จะไม่สามารถยืนยันได้แน่ชัดว่าฝ่ายที่โจมตีเป็นใครมาจากไหน แต่จากหลักฐานหัวธนูที่ทำจากหินออบซิเดียน ซึ่งหาได้ยากในพื้นที่ นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อว่าใครก็ตามที่สังหารกลุ่มคนเหล่านี้ น่าจะอพยพมากจาพื้นที่อื่น
นอกจากนี้การยังมีหลักฐานว่าร่างของผู้เสียชีวิตทั้งหมดไม่ได้มีการถูกฝังหลังจากที่ตาย ซึ่งทำให้มีความเป็นไปได้มากว่าการสังหารหมู่ในครั้งนี้ น่าจะเกิดขึ้นในสงครามระหว่างเผ่าอีกด้วย
นี่เป็นหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งของประวัติศาสตร์ว่ามนุษย์มีการก่อสงครามและการสังหารหมู่มาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ทั้งๆ ที่ดินแดนแห่งนี้ในสมัยก่อนมีความสมบูรณ์มากพอที่เผ่าทั้งสองจะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบได้แท้ๆ
เป็นไปได้ว่าความรุนแรงและกระหายเลือดจะเป็นสิ่งที่ฝังลึกอยู่ในสายเลือดของมนุษย์ก็เป็นได้ เพราะแม้เวลาจะล่วงเลยมากว่า 10,000 ปี มนุษย์ก็ยังคงไม่หยุดที่จะฆ่าฟันกันเองอยู่ดี
ที่มา cnet, smithsonianmag
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.