หากจู่ๆ พูดชื่อ “ฟริทซ์ ฮาเบอร์” ขึ้นมา เชื่อว่าคงมีคนไม่มากที่ร้องอ๋อขึ้นมาในทันที แต่รู้หรือไม่ว่าเขาคนนี้เป็นถึงผู้ที่อยู่เบื้องหลัง การผลิตอาหารให้เพียงพอต่อความต้องการของประชากรโลก และแก๊สสังหารฆ่าคนในเวลาเดียวกัน
ฟริทซ์ ฮาเบอร์ เป็นนักเคมีชาวเยอรมนี เกิดเมื่อปี 1868 ได้เข้าทำงานเป็นศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยคาลส์รูเออเมื่อปี 1894 และมีผลงานสำคัญคือการคิดค้นกระบวนการฮาเบอร์-บ็อช
นี่เป็นปฏิกิริยาการตรึงไนโตรเจนของแก๊สไนโตรเจนและแก๊สไฮโดรเจน เพื่อใช้ผลิตแอมโมเนีย โดย แอมโมเนียเหล่านี้ ก็มักถูกนำใช้ไปในการทำปุ๋ยนั่นเอง
ซึ่งจากข้อมูลทางสถิติปุ๋ยที่ผลิตจากแอมโมเนียเหล่านี้ ผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลกกว่าหนึ่งในสามของประชากรทั้งหมดเลยทีเดียว ซึ่งนั่นทำให้ผลงานของฟริทซ์นับว่าเป็นอะไรที่สำคัญกับโลกใบนี้มากๆ
อย่างไรก็ตามการคิดค้นกระบวนการฮาเบอร์-บ็อชไม่ใช่ผลงานเพียงอย่างเดียวของฟริทซ์ เพราะเขายังเป็นหนึ่งในผู้พัฒนา แก๊สคลอรีน และแก๊สพิษอื่นๆ ซึ่งมีการใช้งานในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งอีกด้วย
ผลงานของฟริทซ์ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่งทำให้เขาได้รับฉายาว่า “บิดาแห่งสงครามเคมี” หลังจากนั้น
แต่แม้ว่าเขาจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เป็นอย่างมากในการพัฒนาอาวุธเคมีให้เยอรมนีต่อหลังจากที่สงครามจบ ผลงานที่เขาสร้างให้กับโลกก็ทรงคุณค่ามากพอที่จะทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลสาขาเคมีในปี 1918 อยู่ดี
ฟริทซ์ ฮาเบอร์เสียชีวิตในปี 1934 ด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวในตอนที่เขาอายุได้ 65 ปี ทิ้งเอาไว้ซึ่งผลงานที่ทั้งช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์และสังหารผู้คนมากมายเอาไว้
อย่างไรก็ตามการกระทำของเขาอาจจะอธิบายได้ง่ายๆ เหมือนกับที่ฟริทซ์เคยกล่าวว่า “ในยามสงบนักวิทยาศาสตร์จะเป็นของโลก แต่ในยามสงครามนักวิทยาศาสตร์จะเป็นของประเทศของเขา”
ที่มา allthatsinteresting, britannica
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.