ย้อนรอย “เกมเศรษฐี” กับเรื่องแปลกๆ ที่ยอดขายเกมจะเพิ่มขึ้น ยามเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ

เมื่อมีคนพูดถึงเกมที่ชื่อ “Monopoly” ชื่อว่าคงมีคนบางส่วนที่ยังงงๆ ว่าหมายถึงเกมอะไร แต่หากพูดถึง “เกมเศรษฐี” แล้วละก็ ชื่อว่าทุกๆ คนคงจะร้องอ๋อเลยทีเดียว

 

 

เกมเศรษฐี เป็นเกมกระดานที่เชื่อกันว่าเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1904 โดยความคิดของ Elizabeth J. Magie หญิงสาวชาวสหรัฐอเมริกา โดยเดิมทีแล้วมีชื่อว่า “Landlord’s Game” และกลายเป็นเกมที่มีคนรู้จักกันไปทั่วโลกในเวลาต่อมา

ว่าแต่รู้หรือไม่ว่าจริงๆ แล้วเกมเศรษฐี ไม่ได้โด่งดังเลยในตอนที่มันถูกคิดค้นขึ้นมา

 

 

ช่วงเวลาที่ทำให้เกมเศรษฐีกลายเป็นเกมกระดานชื่อดังที่ใครๆ ก็รู้จักนั้น มาจากเหตุการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ หรือ “Great Depression” ในช่วงยุค 1930

และก็ในช่วงนั้นเองที่บริษัท Parker Brothers ได้เข้าซื้อลิขสิทธิ์ของ Landlord’s Game และวางจำหน่ายในฐานะเกม Monopoly นั่นเอง

 

 

คงต้องบอกว่าความสำเร็จของเกมเศรษฐีในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่มีปัจจัยอยู่หลายข้อ แต่หนึ่งในนั้นคือการที่เกมเศรษฐีมีราคาที่พอจับต้องได้ในยามที่ประชาชนไม่มีเงินซื้อของฟุ่มเฟือยมากนัก

และนอกจากจะราคาถูกแล้วเกมเศรษฐียังย้อนกลับมาเล่นได้เรื่อยๆ แถมยังเล่นได้ทุกเพศทุกวัย นำไปสู่ความโด่งดังในยุคที่ประชาชนมีเงินน้อยและความเครียดสูง จนไม่ค่อยอยากออกจากบ้านไป

 

 

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้เกมนี้โด่งดังค้างฟ้า น่าจะมาจาก “ความรู้สึก” ของเกมมากกว่า เพราะเกมเศรษฐีนั้นเป็นเกมที่สร้างความรู้สึกที่ว่าผู้เล่นเป็นคนรวยได้อย่างดี

นอกจากนี้ตัวเกมยังแสดงออกถึงความเป็นทุนนิยมอย่างสุดโต่ง ซึ่งเข้ากับสภาพเศรษฐกิจในสมัยนั้น จนทำให้ประชาชนสามารถเอาสถานการณ์จริงมาล้อเล่นได้นั่นเอง

 

 

อันที่จริงเกมเศรษฐียังไม่ใช่เกมกระดานเพียงเกมเดียวที่ได้รับความนิยมจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะเกมอย่าง “สแคร็บเบิล” เองก็มีจุดเริ่มต้นของความโด่งดัง มาจากชายที่ว่างงานในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี 1938

ที่สำคัญการที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทำให้ยอดขายเกมเศรษฐีเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และมันไม่ได้เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเสียด้วย

 

 

เพราะตอนมีวิกฤตการเงินในสหรัฐอเมริกาเมื่อปี 2008 (วิกฤตการณ์แฮมเบอร์เกอร์) เอง ยอดขายเกมเศรษฐีก็เพิ่มขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อเลยเช่นกัน

 

ที่มา historywgbh

Comments

Leave a Reply