คนเกาหลียอมจ่ายเงินเข้า ‘คุกจำลอง’ เพื่อหนี ‘คุกชีวิต’ ที่ต้องเจอความกดดันในทุกๆ วัน

ในสภาพสังคมยุคปัจจุบัน การใช้ชีวิตอยู่ท่ามกลางโลกที่หมุนไปอย่างรวดเร็ว ผู้คนส่วนใหญ่ต่างจะต้องประสบกับแรงกดดันทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นด้านครอบครัว ด้านหน้าที่การงาน และด้านอื่นๆ อีกมากมาย

 

คุกจำลองจากเมืองฮองชอน ประเทศเกาหลีใต้

 

ประเทศในแถบเอเชียก็ถือว่าเป็นกลุ่มประเทศ ที่ประชากรแบกรับความกดดันสูง จนส่งผลทำให้มีสภาวะเครียดและนำไปสู่สาเหตุของการฆ่าตัวตายเป็นอันดับต้นๆ ของโลก

 

 

ยกตัวอย่างจากประเทศเกาหลีใต้ ประชาชนคนทั่วไปถึงกับยอมจ่ายเงินเพื่อที่จะเข้าไปใช้ชีวิตใน ‘คุกจำลอง’ อันเป็นคุกที่ไม่ได้มีไว้กักขังหน่วงเหนี่ยวผู้กระทำความผิดทางกฎหมาย แต่เป็นทางออกสำหรับผู้ที่ต้องการหลีกหนีความวุ่นวายจากชีวิตประจำวัน

 

 

สถานบำบัดเชิงคุก Prison Inside Me ตั้งอยู่ในเมืองฮองชอน จังหวัดคังว็อน ประเทศเกาหลีใต้ ให้บริการมาตั้งแต่ปี 2013 โดยปัจจุบันมีลูกค้ามาใช้บริการมากกว่า 2,000 รายแล้ว

ส่วนมากจะเป็นกลุ่มที่ประสบกับความเครียดจากการทำงาน และกลุ่มนักเรียนนักศึกษาที่ได้รับแรงกดดันจากสภาพสังคม ที่ต้องหางานทำและต้องเรียนเก่งๆ

 

 

Park Hye-ri พนักงานออฟฟิศวัย 28 ปี ผู้ยอมจ่ายเงินเป็นจำนวนเกือบ 3,000 บาท เพื่อแลกกับการใช้ชีวิตในคุกจำลอง 24 ชั่วโมง กล่าวว่าคุกแห่งนี้มอบสัมผัสแห่งอิสระกับเขาได้มากกว่าข้างนอก…

 

 

ทุกคนที่มาใช้บริการคุกจำลองแห่งนี้ ต่างมีจุดประสงค์เดียวกันนั่นก็คือ ผ่อนคลายตัวเองจากความกดดันที่ต้องเจอในชีวิตประจำวัน ด้วยการเลือกมาอยู่ที่นี่ 1-2 วัน ก่อนจะกลับไปเผชิญโลกใบเดิมอีกครั้ง

 

 

สิ่งที่พวกเขาจะได้รับคือชุดยูนิฟอร์มนักโทษที่เหมือนกัน ได้ห้องขังเดี่ยวขนาด 54 ตารางฟุต พร้อมกับพรมโยคะ ชุดชงชา ปากกาและสมุดจด

 

 

อาหารการกินมื้อเช้าจะได้รับเป็นโจ๊กหรือข้าวต้ม ในส่วนของมื้อค่ำจะได้รับเป็นมันหวานอบ น้ำกล้วยบด เสิร์ฟให้ผ่านช่องประตูห้องขัง เหมือนกับคุกของจริง

 

 

อีกทั้งการใช้ชีวิตอยู่ที่นี่มีกฎและข้อห้ามที่เข้มงวด อย่างเช่น ห้ามคุยกับนักโทษคนอื่น รวมไปถึงห้ามใช้โทรศัพท์และนาฬิกา หากไม่ได้รับอนุญาตจากทางเจ้าหน้าที่

 

 

Noh Ji-Hyang ผู้ร่วมก่อตั้งคุกจำลองแห่งนี้ กล่าวว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากสามีของเธอ ผู้ทำงานเป็นอัยการและมักจะใช้เวลาทำงานไม่ต่ำกว่า 100 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

 

 

“สามีดิฉันมักจะกล่าวว่า ขอเข้าไปอยู่ในห้องขังเดี่ยวสัก 1 สัปดาห์ เพื่อที่จะพักผ่อนและรู้สึกดีขึ้น นั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นของที่นี่

และหลังจากที่พวกเขาใช้ชีวิตอยู่ในคุกแห่งนี้ พวกเขามักจะพูดว่า ที่นี่ไม่ใช่คุก เพราะคุกที่แท้จริงคือสถานที่ที่จะต้องกลับไปใช้ชีวิตต่างหาก” Noh Ji-Hyang ให้สัมภาษณ์

 

 

จากการสำรวจทั้ง 36 ประเทศ ในกลุ่มประเทศขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ระบุว่า…

ประเทศเกาหลีใต้มีชั่วโมงการทำงานเฉลี่ย 2,024 ชั่วโมงในปี 2017 นับเป็นประเทศที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนานที่สุด รองจากประเทศเม็กซิโกและคอสตาริกา

 

 

ที่มา: reuters, worldofbuzz


Tags:

Comments

Leave a Reply