นักวิจัยเผยว่า ทำไม “จิ้งจก” ที่เราเห็นกันทั่วไป ถึงสามารถ “วิ่งบนน้ำ” ได้ ราวกับใช้วิชาตัวเบา!!

“จิ้งจกพันธุ์หางแบน” คือจิ้งจกบ้านที่เราสามารถพบเห็นได้ทั่วไป เพราะแหล่งที่พบส่วนใหญ่นั้นอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ส่วนใหญ่แล้วเรามักจะได้เห็นว่ามันสามารถวิ่งบนพื้นราบและปีนป่ายไปตามผนังเพดานได้อย่างคล่องแคล่ว แต่สิ่งหนึ่งที่เราอาจไม่เคยรู้กันมาก่อนเลยก็คือ มันยังสามารถ “วิ่งบนน้ำ” ได้ด้วย?!

 

 

ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ได้รายงานถึงผลการค้นพบและศึกษาวิจัยเกี่ยวกับลักษณะพิเศษของเจ้าจิ้งจกสายพันธุ์นี้ลงในวารสาร Current Biology

ดอกเตอร์ Jasmine Nirody ผู้นำทีมวิจัยดังกล่าว บอกว่าเธอเริ่มศึกษาความสามารถพิเศษนี้ของพวกมัน หลังจากที่เพื่อนร่วมงานคนหนึ่งพบเห็นจิ้งจกบ้านที่สิงคโปร์วิ่งบนน้ำในช่วงฤดูฝน

เธอมองว่ามันเป็นเรื่องประหลาดอย่างมากสำหรับสิ่งมีชีวิตขนาดกลางอย่างเจ้าจิ้งจกสายพันธุ์นี้

 

 

ทีมผู้วิจัยจึงทำการศึกษาโดยใช้กล้องบันทึกภาพวิดีโอความเร็วสูง สังเกตการณ์การวิ่งบนน้ำของจิ้งจกบ้าน 8 ตัว ในอ่างน้ำความยาว 35 เซนติเมตร รวมทั้งสิ้น 63 ครั้ง

จากการศึกษาดังกล่าวจึงพบว่าพวกมันใช้ขาและฝ่าเท้าตีผิวน้ำอย่างรวดเร็วและรุนแรง จนเกิดฟองอากาศและช่องว่างเก็บอากาศใต้ผิวน้ำ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มันสามารถพยุงส่วนลำตัวราวๆ 72 เปอร์เซ็นต์ให้พ้นเหนือน้ำได้

 

ลำตัวจะชูขึ้นเหนือน้ำ ขณะเดียวกันส่วนหางจะยังสัมผัสกับน้ำอยู่

 

ท่าทางของพวกมันจะคล้ายกับการปั่นจักรยาน

 

ผิวหนังที่ไม่ซึมซับความเปียกชื้นของพวกมันก็เป็นหนึ่งในตัวช่วยของความสามารถพิเศษนี้ ทำให้ไม่เกิดแรงหน่วงขณะวิ่งบนน้ำ ทำให้สามารถวิ่งบนน้ำได้ด้วยความเร็วเกือบ 1 เมตรต่อวินาที

นอกจากนั้น พวกมันยังมีการใช้ประโยชน์จากแรงตึงผิวของน้ำเพื่อพยุงตัวเอาไว้ แต่หากมีการเติมสบู่ลงไปในน้ำเพื่อลดแรงตึงผิวลง มันก็อาจจะวิ่งต่อไปได้แต่มีความเร็วลดลงราวๆ 50 เปอร์เซ็นต์ หรืออาจจมลงไปแทน

 

คลิปจิ้งจกวิ่งบนน้ำ

 

นักวิจัยกล่าวว่า จิ้งจกสายพันธุ์นี้สามารถว่ายน้ำได้อยู่แล้ว แต่การที่มันวิ่งบนน้ำได้นั้นจะช่วยให้สามารถหลีกหนีจากอันตรายได้รวดเร็วกว่า และขึ้นบกไปได้ด้วยความเร็วที่ใกล้เคียงกัน

 

ที่มา: cell , eurekalert

Comments

Leave a Reply