งานวิจัยใหม่ชี้ความเป็นไปได้ โครงกระดูก “Little Foot” อาจเป็นมนุษย์สายพันธุ์ใหม่

ย้อนกลับไปเมื่อยุค 1990 โลกของเราได้รู้จักกับ “Little Foot” โครงกระดูกมนุษย์โบราณที่ถูกตั้งชื่อตามลักษณะของเท้าที่มีขนาดเล็ก ในแอฟริกาใต้ และเชื่อกันว่าน่าจะเคยมีชีวิตอยู่เมื่อราวๆ 3.67 ล้านปีก่อน

 

 

ในช่วงแรกๆ ที่มีการค้นพบ Little Foot ถูกจัดไว้ในกลุ่ม “ออสตราโลพิเธคัส เรมิดัส” สายพันธุ์ของมนุษย์ที่มีฟอสซิลเด่นๆ คือ “ป้าลูซี่” ที่เรารู้จักกันอยู่

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลของงานวิจัยใหม่ล่าสุดนี้เอง เราก็ได้ทราบกันว่า แท้จริงแล้ว Little Foot อาจจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มมนุษย์ออสตราโลพิเธคัส เรมิดัส แต่เป็นมนุษย์โบราณสายพันธุ์ใหม่ที่เราไม่เคยรู้จักกันมาก่อนก็เป็นได้

เพราะ Little Foot ที่สูงเพียงแค่ 130 เซนติเมตรนั้น แม้ว่าจะมีขาที่ยาวกว่าแขนอันเป็นลักษณะสำคัญที่แยกมนุษย์ออกมาจากลิงก็ตาม แต่เธอกลับมีฟันที่ใหญ่ ใบหน้าที่แบน และช่องว่างระหว่างฟันที่กว้าง

 

 

นี่เป็นลักษณะฟันของสัตว์ที่กินพืชเป็นอาหารเพียงอย่างเดียว ซึ่งทำให้ Little Foot ไม่น่าจะเป็นมนุษย์สายพันธุ์เดียวกับ ป้าลูซี่ที่เริ่มมีการกินอาหารที่เป็นทั้งพืชและสัตว์แล้วนั่นเอง

เท่านั้นยังไม่พอเพราะจากการวิเคราะห์กระดูกของนักวิทยาศาสตร์แล้ว Little Foot ยังมีความสามารถในการปีนต้นไม้ที่สูงกว่าคนในปัจจุบันมาก ถึงแม้ว่าจะไม่สามารถถือของได้ดีเท่าคนในปัจจุบันก็ตาม

 

 

โดย Ronald Clarke นักบรรพมานุษยวิทยาผู้มีส่วนร่วมในงานวิจัยครั้งนี้ ได้เสนอชื่อของเผ่าพันธุ์ใหม่ของ Little Foot ว่า “ออสตราโลพิเธคัส โพรมีทีอูส” (Australopithecus prometheus) ตามชื่อของเทพไททันแห่งกรีก

โดยเหตุผลที่ตั้งชื่อแบบนี้นั้น Clarke บอกว่าเพราะ Little Foot จะสามารถเป็นบันไดขั้นสำคัญในการศึกษาการวิวัฒนาการของมนุษย์ ซึ่งเปรียบได้กับการที่โพรมีทีอูสสร้างมนุษย์ขึ้นมาจากดินเหนียวนั่นเอง

 

 

จริงอยู่ว่าผลงานวิจัยที่ออกมานั้น ยังคงต้องมีการตรวจสอบยืนยันกันต่อไปก่อน แต่นี่ก็นับว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจมากๆ ชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว

เพราะถ้าโพรมีทีอูสได้กลายเป็นมนุษย์สายพันธุ์ใหม่จริงๆ นี่จะนับว่าเป็นการค้นพบสัตว์เผ่า Hominini ชนิดใหม่เป็นครั้งแรกในรอบสามปี ตั้งแต่ที่มีการค้นพบโฮโมนาเลดีในปี 2015 เลยทีเดียว

 

ที่มา iflscience และ dailymail

Comments

Leave a Reply