Madhumala หญิงชาวอินเดีย ที่ได้รับการยอมรับจาก ‘ชนเผ่า’ บนเกาะต้องห้าม!!

กลายเป็นข่าวใหญ่ที่ได้รับความสนใจไปทั่วโลก กับกรณีของนักเผยแพร่ศาสนาหนุ่ม พยายามพายเรือเข้าไปใน ‘เกาะต้องห้าม’ ในประเทศอินเดีย ก่อนที่จะถูกชนเผ่าที่อยู่บนเกาะใช้ธนูยิงจนเสียชีวิต

 

 

แต่ย้อนกลับไปเมื่อ 27 ปีก่อน เพื่อนๆ รู้หรือไม่ว่า เคยมีผู้หญิงคนหนึ่งสามารถติดต่อกับผู้คนที่อยู่บนเกาะนั้นได้ โดยที่ไม่ได้รับอันตราย!?

ขอแนะนำให้ทุกท่านรู้จักกับ Madhumala Chattopadhyay นักมานุษยวิทยา และนักวิจัยหญิงชาวอินเดีย เธอเป็นหนึ่งในคนไม่กี่คนที่ชาวเผ่าบนเกาะเซนทิเนล หรือรู้จักกันในดีในนาม ‘เกาะต้องห้าม’ ยอมเปิดใจให้

 

 

ย้อนกลับไปในวัย 12 ปี Madhumala ได้รับรู้เรื่องราวของเกาะต้องห้ามนี้ผ่านทางโทรทัศน์ และตั้งความใฝ่ฝันเอาไว้ว่าวันหนึ่ง เธอจะต้องพบเจอและติดต่อกับพวกเขาให้ได้ จึงตั้งใจเรียนและในที่สุดเธอก็จบการศึกษาจากคณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัย Calcutta ประเทศอินเดีย

เธอบอกกับพ่อแม่ว่าการเรียนในสาขาวิชานี้จะเป็น ‘พาสปอร์ต’ ที่ทำให้เธอสามารถติดต่อกับชนเผ่าบนเกาะต้องห้ามได้

 

 

จากการร่วมมือกันศึกษาและเก็บข้อมูลอย่างหนักเป็นเวลานานถึง 6 ปี ของ Madhumala และทีมนักวิจัยของหน่วยงาน Anthropological Survey of India

ทำให้ทราบว่าชนเผ่าเซนทิเนลที่อยู่บนเกาะต้องห้ามนั้นเป็นส่วนหนึ่งของชาวเผ่า ‘อันดามัน’ ทำให้เธอทราบถึงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมรวมไปถึง ‘ภาษา’ ที่ใช้พูดคุยสื่อสารกัน

ในวันที่ 4 มกราคม ปี 1991 เป็นการเดินทางไปยังเกาะต้องห้ามเป็นครั้งแรกของ Madhumala และทีมสำรวจ เมื่อเรือขับไปถึงชายฝั่งของเกาะทีมนักสำรวจทุกคนต่างก็รีบเอา ‘มะพร้าว’ โยนลงจากเรือ

 

 

เพราะตามขนบธรรมเนียมของชนเผ่าอันดามันแล้ว การทำแบบนี้เป็นการสื่อสารเพื่อบ่งบอกว่า ‘มาเยือนอย่างสันติ’ หลังจากนั้นไม่นานชนเผ่าเซนทิเนล ก็เดินลงมาในทะเลเพื่อหยิบลูกมะพร้าวขึ้นไปบนฝั่ง

จากนั้นก็มีชนเผ่าเดินออกมาขนลูกมะพร้าวเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ทำให้ Madhumala ตัดสินใจที่จะลองกระโดดลงน้ำ และเดินขึ้นไปที่ฝั่ง การกระทำในครั้งนั้นถูกจารึกไว้ในประวัติศาสตร์ ว่าเป็น ‘ความสำเร็จครั้งแรกในการติดต่อกับผู้คนบนเกาะต้องห้าม’

หลังจากการเยือนในครั้งนั้นจบลงทุกอย่างก็ผ่านไปได้ด้วยดี นอกจากนี้ Madhumala และทีมนักสำรวจก็กลับมาเยี่ยมเยียนชนเผ่าที่เกาะต้องห้ามอีกครั้ง

ในครั้งที่สองนี้ทีมนักสำรวจโยนลูกมะพร้าวลงไป ชนเผ่าถึงกับปีนขึ้นมาบนเรือเพื่อมาหยิบลูกมะพร้าวเองเลยทีเดียว

 

 

 

ปัจจุบัน Madhumala ทำงานเป็นข้าราชการส่วนกลางของรัฐบาล ในกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย และน้อยคนนักที่จะรู้ว่าเธอเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้การพบปะกันระหว่างโลกภายนอกกับชนเผ่าบนเกาะต้องห้ามกลายเป็นความจริง!!

 

ที่มา : probashionline, boredpanda

Comments

Leave a Reply