เชื่อหรือไม่ “ทฤษฎีอะตอม” เคยมีการพูดถึงมาแล้วเมื่อ 2,600 ปีก่อน โดยนักปราชญ์ที่อินเดีย

เมื่อพูดถึงทฤษฎีอะตอมเชื่อว่าหลายๆ คนคงจะนึกถึงชื่อของจอห์น ดาลตันขึ้นมาเป็นชื่อแรก เพราะเขาคือนักเคมีและฟิสิกส์ผู้ที่มีชื่อเสียงจากการเป็นผู้ริเริ่มทฤษฎีอะตอมนั่นเอง

 

 

ถึงอย่างนั้นก็ตาม ในความเป็นจริงทฤษฎีอะตอมมีมานานกว่าที่เราคิดเยอะ เพราะในสมัยกรีกโบราณเอง “ดิมอคริตัส” (มีชีวิตอยู่เมื่อราว 460-370 ปีก่อนคริสตกาล) ก็เคยมีการพูดถึงทฤษฎีอะตอมมาแล้ว

ว่าแต่เชื่อหรือไม่ว่าดิมอคริตัสเองก็อาจจะไม่ใช่ชายคนแรกที่พูดถึงทฤษฎีอะตอม เพราะหากย้อนไปก่อนหน้านั้นเล็กน้อย ก็มีความเป็นไปได้ที่ว่ามีชายคนหนึ่งเคยคิดทฤษฎีเกี่ยวกับอะตอมขึ้นมาแล้วเหมือนกัน

 

 

 

ชายคนนั้นคือนักปราชญ์ (และนักปรัชญา) ชาวอินเดียที่ถูกเรียกว่า “อจารยา คานาต” (Acharya Kanad ในภาษาอังกฤษ และ कणाद ในภาษาสันสกฤต)

ไม่มีใครทราบว่าจริงๆ แล้ว คานาตมีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาไหนกันแน่ แต่เชื่อกันว่าเขาเกิดเมื่อช่วง 200-600 ปีก่อนคริสตกาล (ซึ่งหมายความว่ามีความเป็นไปได้ว่าเขาจะเกิดหลังดิมอคริตัสเช่นกัน) และมีชื่อเดิมว่ากัสสปะ

 

 

เขาเป็นคนที่สนใจในของสิ่งเล็กๆ มาก เลยเริ่มเก็บเมล็ดข้าวจากถนน จนกลายเป็นที่สนใจของคนที่ผ่านไปมามาก และเมื่อถูกถามว่าเขาเก็บเมล็ดข้าวที่ตกบนถนนไปทำไม เจ้าตัวก็บอกว่าเมล็ดข้าวนั้นแม้จะเล็กและดูไร้ค่า แต่ถ้านำมารวมกันก็จะกลายเป็นอาหารมื้อหนึ่งได้เลย

การกระทำนี้เองที่ทำให้เขาได้รับชื่อ อจารยา คานาต (แปลว่า “อาจารย์ของสิ่งเล็กๆ”)

ความชอบในสิ่งเล็กๆ ของคานาต ทำให้วันหนึ่งเขาแบ่งอาหารที่มีเป็นหน่วยที่เล็กลงเรื่อยๆ จนกระทั่ง แม้แต่เมล็ดข้าวก็ถูกหั่นเสียจนเล็กสุดๆ ไม่อาจหั่นแบ่งได้อีกต่อไป

 

 

ในเวลานั้นเองที่คานาตมีความคิดถึง “ชิ้นส่วน” ที่ไม่อาจจะหั่นแบ่ง หรือทำลายได้อีกต่อไป และตั้งชื่อมันว่า “ปรมาณู” หรือ “อณู” (คุ้นกันแล้วใช่ไหม) และกลายเป็นที่มาของทฤษฎีอะตอมแห่งอินเดียไปนั่นเอง

อจารยา คานาต บอกว่าอณู เป็นอนุภาคที่มนุษย์ไม่สามารถรับรู้ได้ แต่หากอณูหลายๆ ประเภทร่วมกันเข้ามันก็จะกลายเป็นสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้เช่นกัน

 

 

นี่กลายเป็นแนวคิดที่ถูกนำไปอธิบายเหตุการณ์ทางวิทยาศาสตร์ (อย่างการผสมสารทางเคมี หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพสารด้วยความร้อน) ในสมัยนั้นได้เป็นอย่างดี

และแม้ว่าทฤษฎีอะตอมของคานาตจะดูเป็นนามธรรม และใกล้เคียงกับปรัชญามากกว่าวิทยาศาสตร์ แต่แนวคิดของเขาก็จะกลายเป็นรากฐานสำคัญ ของการศึกษาวิชาวิทยาศาสตร์ในเวลาต่อมาอยู่ดีนั่นเอง

 

ที่มา ancient-originsancientpages และ beyondsciencetv

Comments

Leave a Reply