ตั้งแต่ที่มีการปล่อยออกไปในวันที่ 12 สิงหาคม 2018 ยาน “Parker Solar Probe” ของนาซาก็เดินทางมุ่งสู่ดวงอาทิตย์เรื่อยมาโดยที่แทบไม่มีใครรู้
ภาพจำลองของยาน Parker Solar Probe ที่เดินทางไปยังดวงอาทิตย์
จนกระทั่งช่วงคาบเปลี่ยนระหว่างเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนที่ผ่านมา ในที่สุดยานลำนี้ก็เข้าไปถึง “โคโรนา” ในชั้นบรรยากาศของดวงอาทิตย์แล้ว
และในสถานที่อันแปลกประหลาดนั้นเอง ยาน Parker Solar Probe ก็ได้ถ่ายภาพของดวงอาทิตย์ในระยะที่ใกล้ชิดที่สุดเท่าที่เคยมีมา ส่งกลับมาให้โลกได้เห็นกันจนได้
ภาพที่เห็นนี้ ถูกถ่ายเก็บไว้ด้วยระบบ “Wide-field Imager for Solar Probe” (เครื่องตรวจจับพื้นที่กว้างสำหรับ Solar Probe) หรือ “WISPR” ในระยะห่างราวๆ 27 ล้านกิโลเมตรจากดวงอาทิตย์
จากในภาพเราจะสามารถมองเห็นถึงโคโรนา อันเป็นพลาสมาที่แผ่พุ่งของดวงอาทิตย์ ในรูปแบบแสงที่พุ่งออกมาจากด้านซ้ายของภาพ นอกจากนี้หากสังเกตดีๆ เรายังสามารถมองเห็นดาวพุธในลักษณะจุดสีขาวในภาพอีกด้วย
ภาพถ่ายที่ออกมานี้เชื่อกันว่าจะช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ สามารถวิเคราะห์การกำเนิดของพลาสมารูปแบบนี้ได้เป็นอย่างดี และละเอียดอ่อนกว่าการสังเกตโคโรนาในเวลาที่เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงมาก
โคโรนาของดวงอาทิตย์สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในเหตุการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง
นอกจากนี้ หากกำหนดการปฏิบัติภารกิจของยาน Parker Solar Probe ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ในอีกไม่นานตัวยานก็จะเดินทางผ่านชั้นบรรยากาศด้านนอกของดวงอาทิตย์ และกลายเป็นการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเท่าที่เคยมีมาของมนุษย์เลยด้วย
ซึ่งในเวลานั้น นักวิทยาศาสตร์ก็เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าเราจะได้รับข้อมูลใหม่ๆ เกี่ยวกับดาวฤกษ์ดวงนี้
ที่มา independent, cnet และ unilad
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.