พบสิ่งปลูกสร้างคล้ายพีระมิดซ่อนอยู่ในอินโดนีเซีย เชื่ออาจมีอายุมากกว่า 9,000 ปี

แม้ว่าตามปกติหากพูดถึงพีระมิด คนส่วนใหญ่จะนึกถึงประเทศอียิปต์ขึ้นมาเป็นที่แรก แต่ในความเป็นจริงนั้นมีวัฒนธรรมอีกหลายแห่ง ที่มีสิ่งปลูกสร้างในรูปแบบพีระมิด ไม่ว่าจะเป็นชาวแอซเท็ก หรือแม้แต่ชาวจีนก็ตาม

และล่าสุดนี้เองที่ประเทศอินโดนีเซียก็ได้มีการค้นพบสิ่งปลูกสร้างที่รูปร่างคล้ายกับพีระมิดเช่นกัน

 

 

นี่เป็นสิ่งปลูกสร้างที่เชื่อกันว่าน่าจะเป็นวิหารโบราณขนาดใหญ่ ที่ถูกฝังเอาไว้ใต้ดินมาเป็นเวลายาวนานกว่า 1,000 ปี จนพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพคล้ายภูเขาธรรมดาๆ ลูกหนึ่ง

ที่ตั้งของวิหารดังกล่าวอยู่ที่ภูเขาปาดัง ในจังหวัดชวาตะวันตก และมีแหล่งโบราณคดีซึ่งถูกค้นพบไปในศตวรรษที่ 1 ทับอยู่ข้างบนอีกที

 

บริเวณที่วิหารถูกฝัง (วงกลมสีแดง) และโบราณคดีที่อยู่ข้างบน (วงกลมสีเหลือง)

 

การค้นพบที่เกิดขึ้นในวันที่ 12 ธันวาคม ด้วยเครื่องมือการสำรวจใต้ดินหลายหลายชนิด ตั้งแต่เรดาร์ใต้ดิน ระบบเอกซเรย์ เรื่อยไปจนการขุดค้นด้วยสว่านและด้วยมือ จนกระทั่งพบกับวิหารโบราณ

จริงอยู่ว่าสิ่งก่อสร้างแห่งนี้จะมีรูปแบบคล้ายพีระมิดก็ตาม แต่มันก็แตกต่างจากพีระมิดของอียิปต์หรือมายา เพราะพีระมิดที่นี่มีการสร้างซ้อนทับกันเป็นชั้นๆ ตามยุคสมัย ทำให้อายุของแต่ละชั้นมีความเก่าแก่ที่แตกต่างกันออกไป

 

ภาพอธิบายลักษณะชั้นของสิ่งก่อสร้าง

 

โดยจากคำบอกเล่าของนักวิทยาศาสตร์ ชั้นนอกสุดของพีระมิดที่พบมีอายุอยู่ที่ราวๆ 3,000-3,500 ปี แต่ลึกลงไปราวๆ 3 เมตร วัสดุที่พบก็มีอายุเก่าแก่มากขึ้นเป็น 7,500-8,300 ปีเลยทีเดียว

เท่านั้นยังไม่พอเพราะเมื่อเจาะลงไปราวๆ 15 เมตรนักวิทยาศาสตร์ก็พบกับชั้นที่สามซึ่งมีอายุมากกว่า 9,000 ปี และยังมีความเป็นได้ที่จะมีชั้นสี่ ที่เก่าแก่ยิ่งกว่านั้นอีก

แม้จะในปัจจุบันจะยังไม่อาจทราบได้ว่าโบราณสถานที่พบในอดีตเคยมีการใช้งานอย่างไร แต่จากการที่ส่วนบนของพีระมิดก็ยังคงถูกใช้งานในฐานะสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เหล่านักโบราณคดีก็เชื่อว่าในอดีต ที่แห่งนี้ก็น่าจะมีการใช้งานที่ใกล้เคียงกัน

ที่มา livescience

Comments

Leave a Reply