ชม “โนริมิซุ โอดาชิ” ดาบขนาดใหญ่ของญี่ปุ่น ที่เชื่อกันว่าถูกสร้างขึ้นมาให้ “ยักษ์” ใช้

เมื่อพูดถึงดาบที่มีชื่อเสียงของญี่ปุ่น คนส่วนมากก็มักจะนึกถึงดาบคาตานะของมุรามาสะขึ้นมาเป็นอย่างแรกๆ แต่ในความเป็นจริงแล้วประเทศแห่งนักรบประเทศนี้นั้นยังมีดาบที่มีชื่อเสียงอยู่อีกหลายเล่มเลย

และในวันนี้เราจะไปชม “โนริมิซุ โอดาชิ” ดาบมีชื่อเสียงที่ถูกสร้างขึ้นเมื่อราวศตวรรษที่ 15 ของประเทศญี่ปุ่นกัน

 

 

โนริมิซุ โอดาชิ เป็นดาบที่มีจุดเด่นอยู่ที่ความยาวที่วัดได้ถึง 3.77 เมตร และหนักถึง 14.5 กิโลกรัม เรียกได้ว่าทั้งยาวและหนักจนเกินกว่าที่คนธรรมดาจะใช้ได้เลย ดังนั้นที่ผ่านๆ มา ดาบเล่มนี้จึงถูกมองว่าทำขึ้นมาเพื่อให้ยักษ์ใช้

นี่เป็นดาบที่อยู่ในตระกูลโอดาชิ (大太刀) ดาบญี่ปุ่นขนาดใหญ่ที่แม้จะมีรูปร่างคล้ายกับคาตานะ แต่ก็มีความโค้งและสัดส่วนด้ามจับที่ยาวกว่ามาก ซึ่งเชื่อกันว่ามีการใช้งานกันอย่างแพร่หลายพอสมควร ในช่วงยุคราชสำนักเหนือ-ใต้ (1336-1392)

 

ขนาดโดยทั่วไปของโอดาชิ

 

ตามปกติดาบประเภทนี้จะมีความยาวราวๆ 90-100 เซนติเมตร (แต่บางครั้งก็ยาวถึง 2 เมตรได้เลย) ดังนั้น โอดาชิจึงมักถูกพกพาไปในสถานที่รบโดยไม่ใส่ปลอกหรือด้วยการสะพายไว้บนหลัง

อย่างไรก็ตามการทำแบบนี้มักจะทำให้การชักโอดาชิออกมาใช้นั้นเป็นไปได้ยากมาก เพราะแม้ว่าเราอาจจะติดภาพลักษณ์การชักดาบจากหลังก็ตาม แต่ในความเป็นจริงมันทำได้ยากมากๆ จนถึงขั้นทำไม่ได้เลย

 

 

ดังนั้นนักโบราณคดีหลายๆ คนจึงเชื่อว่าในยุคหลังๆ โอดาชิน่าจะถูกใช้ในฐานะอาวุธที่แสดงแสนยานุภาพของกองทัพเฉยๆ มากกว่าที่จะเป็นอาวุธหลักในสงคราม

หากคิดแบบนั้นแล้ว จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ดาบแบบโนริมิซุ โอดาชิ จะมีรูปร่างอย่างที่เห็น เพราะหากดาบเล่มนี้ถูกใช้ในการแสดงแสนยานุภาพ หรือในพิธีการเฉยๆ แล้วล่ะก็ รูปร่างที่น่าเกรงขาม (และขนาดที่ใหญ่เกินจริง) จะมีความสำคัญมากกว่าการใช้งานจริงๆ

 

 

นอกจากนี้การจะตีดาบที่ยาวมากๆ อย่างโนริมิซุ โอดาชิออกมานั้นยังจำเป็นจะต้องใช้ช่างตีดาบที่มีฝีมือมากๆ ทำให้ดาบดังกว่าน่าจะมีมูลค่าที่สูงตามไปด้วย ดังนั้นคนที่จะเป็นเจ้าของมันได้ จึงไม่น่าจะเป็นคนที่ต้องออกรบด้วยตัวเอง สนับสนุนแนวคิดข้างบนได้เป็นอย่างดี

แต่ถึงแม้ว่าดาบเล่มนี้อาจจะไม่ได้ถูกใช้งานในการรบก็ตาม แต่การที่ได้เห็นหรือครอบครองดาบขนาดใหญ่แบบนี้ ก็นับว่าเป็นความโรแมนติกของลูกผู้ชาย (และผู้หญิงหลายๆ คน) อยู่ดี

 

 

ที่มา ancient-origins

Comments

Leave a Reply