เมื่อพูดถึง ซอสมะเขือเทศ หรือที่ฝรั่งเขาเรียกกันว่า Ketchup แน่นอนว่าใครๆ ก็ต้องนึกถึงอาหารฟาสต์ฟู้ดหรืออาหารตะวันตกเสียเป็นส่วนใหญ่
โดยเฉพาะชาวอเมริกัน จากการรายงานพบว่า 97 เปอร์เซ็นต์ของชาวอเมริกัน นั้นมีซอสมะเขือเทศอยู่ในบ้านของตัวเอง เรียกได้ว่าเป็นซอสที่มีอยู่ทุกบ้านเลยจริงๆ
แต่หารู้ไม่ว่า ต้นกำเนิดของ Ketchup จริงๆ นั้นมันอยู่ที่ทวีปเอเชียต่างหาก!!
National Geographic ระบุไว้ว่า ในช่วงปลายศตวรรษที่ 17 ถึงต้นศตวรรษที่ 18 ชาวสหราชอาณาจักรได้พบเจอกับซอสที่เรียกว่า Ketchup เป็นครั้งแรกในเอเชีย โดยอยู่ในรูปแบบของซอสที่หมักขึ้นจากปลา
ส่วนวิธีการ Ketchup ในยุคแรกนั้นถูกตีพิมพ์ขึ้นในปี 1732 โดย Richard Bradley โดยมีการอ้างอิงไว้ชัดเจนว่าได้ต้นแบบมาจากตำราอาหารของชาวเอเชียตะวันออก
วิธีทำดังกล่าวเกิดจากการที่ชาวอังกฤษได้ชิมซอส Ketchup ของเอเชียแล้วพวกเขาก็พยายามลองทำมันขึ้นมาใหม่จากความจำ โดยพวกเขาใช้วิธีหมักเห็ด ผลวอลนัท หอยนางรม และปลาแอนโชวี
ส่วนมะเขือเทศนั้นยังไม่ได้มีบทบาทในช่วงแรก กระทั่งปี 1812 ชายนามว่า James Mease ได้ลองใส่ผลไม้ที่เรียกว่า Love Apple ลงไปในซอส Ketchup ดั้งเดิมพร้อมมะเขือเทศบด เครื่องเทศ และบรั่นดี
เขาก็ตั้งชื่อมันว่า Ketchup ตามซอสฉบับดั้งเดิม โดยคำว่า Ketchup นั้นน่าจะมาจากคำว่า “เค-เชี๊ยบ” ที่แปลว่า น้ำเค็มของปลาดอง ในภาษาท้องถิ่นของจีนที่เรียกว่า Amoy
(อ้างอิงจากหนังสือ Pure Ketchup: A History of America’s National Condiment ของ Andy F. Smith)
สรุปแล้ว ซอสมะเขือเทศในปัจจุบันนั้นก็ได้รับการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงมาอย่างยาวนานจากน้ำของปลาดองกลายเป็นซอสข้นสีแดงที่เราทานคู่กับอาหารทอดในปัจจุบัน
ที่มา: bostonglobe, nationalgeographic และ nextshark
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.