ตามปกติหากเราพบโถ ไหหรือแจกันจากสมัยก่อน เราก็มักจะรับรู้ได้ด้วยสามัญสำนึกว่าสิ่งที่พบนั้นทำขึ้นมาเพื่อใส่อะไรบางอย่าง (โดยเฉพาะน้ำ) แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากโถที่พบมันกลับเป็นโถที่เต็มไปด้วยรูล่ะ
ปริศนาของโถที่ว่านี้เกิดขึ้นเมื่อพิพิธภัณฑ์ออนแทรีโอ ประเทศแคนาดา ได้ประกอบเศษชิ้นส่วนโถโบราณ 180 ชิ้นที่มีการค้นพบในอดีตเข้าด้วยกัน และพบว่าผลลัพธ์ที่ได้ออกมานั้นเป็นโถที่มีรูปจำนวนมากอยู่รอบๆ อย่างน่าประหลาด
นี่เป็นโถที่เชื่อกันว่าค้นพบโดยนักโบราณคดีของประเทศเวลส์ (1 ใน 4 ประเทศองค์ประกอบของสหราชอาณาจักร) ในช่วงยุค 1950 ใกล้ๆ กับวิหาร Mithraeum ในลอนดอน ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อบูชาเทพมิททราส พระเจ้าแห่งดวงตะวันที่คนโรมันตะวันออกนับถือ
วิหาร Mithraeum สถานที่ซึ่งเชื่อกันว่ามีการพบโถ
อย่างไรก็ตาม ที่มาจริงๆ ของโถที่ยังมีข้อกังขากันอยู่ เนื่องจากในสถานที่เก็บเศษโถเองยังมีโบราณวัตถุจากเมือง “Ur” ของเมโสโปเตเมียอยู่ด้วย ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าจริงๆ แล้วโถนี้เป็นของทางเมโสโปเตเมียแทน
แถมในกรณีที่มันมาจากเมโสโปเตเมีย โถที่พบจะมีอายุได้มากที่สุดถึง 5,000 ปีเลยทีเดียว
โบราณสถานของเมือง Ur อีกสถานที่ที่เชื่อกันว่ามีการพบโถ
อย่างไรก็ตามคำถามของคนที่พบเห็นโถอันนี้หลายๆ คนจะอยู่ที่ว่าทำไมคนในสมัยก่อนถึงเจาะรูจำนวนมากบนโถมากกว่า เพราะรูเหล่านี้จะทำให้โถไม่เหมาะสมกับการเก็บน้ำ ซึ่งเป็นหน้าที่หลักๆ ของมันในสมัยก่อนไป
โดยสำหรับเรื่องนี้ นักโบราณคดีในตั้งข้อสันนิษฐานว่าโถที่พบน่าจะเป็นวัตถุที่เรียกว่า “Glirarium” ซึ่งเป็นกรงขังแบบพิเศษที่ใช้ขังสัตว์ฟันแทะที่ในสมัยก่อนใช้เป็นอาหาร หรือไม่ก็เป็นโถสำหรับใส่งูของคนสมัยเมโสโปเตเมีย
ไม่ว่าจะเป็นทางไหน ดูเหมือนว่านักโบราณคดีจะเชื่อว่ารูที่อยู่บนโถนั้นเจาะขึ้นมาเพื่อทำให้อากาศในโถถ่ายเทได้ดีขึ้นเป็นหลัก
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามความจริงเกี่ยวกับรูบนโถที่เห็นก็คงจะมีแต่เจ้าของจริงๆ ของมันเท่านั้นที่ฟันธงได้อยู่ดี
ที่มา ancient-origins
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.