ตั้งแต่ที่ยานอะพอลโล 11 ขึ้นไปแตะดวงจันทร์ในปี 1969 มนุษย์โลกก็ได้มีโอกาสไปเหยียบดวงจันทร์กันอีกมากมายหลายครั้ง ว่าแต่รู้รึเปล่าว่าการไปร่อนลงบนดวงจันทร์ที่ผ่านๆ มานั้น ล้วนแต่เกิดขึ้นกับดวงจันทร์ฝั่งใกล้เท่านั้น
แต่แล้วเมื่อคืนวันที่ 3 มกราคม ค.ศ. 2019 ที่ผ่านมานี้เอง ยานสำรวจ “ฉางเอ๋อ 4” (嫦娥四號) ของประเทศจีน ซึ่งถูกปล่อยขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม ค.ศ. 2018 ก็ได้ประสบความสำเร็จในการลงจอดบนดวงจันทร์ฝั่งไกล
ภาพจำลองของยานสำรวจฉางเอ๋อ 4 ในขณะปฏิบัติภารกิจ
เป็นเรื่องที่ทราบกันว่าดวงจันทร์นั้นจะโคจรรอบโลกโดยหันด้านเดิม (เรียกว่าฝั่งใกล้) เข้าสู่โลกอยู่เสมอๆ ทำให้ดวงจันทร์ฝั่งไกลกลายเป็นฝั่งที่ยังไม่มีใครส่งยานอวกาศไปสำรวจมาก่อน
มันเป็นพื้นที่ที่มีพื้นผิวขรุขระ และมีหลุมบ่อซึ่งเกิดจากการถูกวัตถุในอวกาศพุ่งชนอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหนึ่งในหลุมเหล่านี้เองก็ยังมีหลุมที่ชื่อว่า “Von Kármán” ที่มีขนาดใหญ่และลึกที่สุดอยู่ด้วย
โดยหนึ่งในเป้าหมายของภารกิจในครั้งนี้ก็มีอยู่ที่การสำรวจหลุม Von Kármán ที่ว่านี้นั่นเอง
ภาพถ่ายชุดแรกจากยานฉางเอ๋อ-4
นอกจากนี้ยานสำรวจฉางเอ๋อ 4 ยังได้บรรทุกสิ่งมีชีวิต 6 ชนิด เพื่อทำการทดลองบนดวงจันทร์ฝั่งไกลอีกด้วย
เท่านั้นยังไม่พอ เพราะด้วยความที่ดวงจันทร์ฝั่งไกลเป็นฝั่งที่ไม่มีคลื่นวิทยุรบกวนจากโลก ทำให้สถานที่แห่งนี้มีความเหมาะสมที่จะใช้ทำการทดลองตรวจจับคลื่นวิทยุจากอวกาศต่อไปในอนาคต
การลงจอดในครั้งนี้นับว่าเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่มากๆ ครั้งหนึ่งของประเทศจีนเลยก็ว่าได้ เพราะมันทำให้ประเทศจีนได้กลายเป็นประเทศแรกของโลกที่มีโอกาสได้สำรวจดวงจันทร์ฝั่งไกลอย่างใกล้ชิด
ความพยายามขึ้นเป็นผู้นำด้านการสำรวจอวกาศของประเทศจีน ก้าวหน้าขึ้นเป็นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยนอกจากยานฉางเอ๋อ 4 แล้ว พวกเขายังได้วางแผนการสร้างสถานีอวกาศของตัวเองในปี ค.ศ. 2020 และหวังว่าจะพร้อมปฏิบัติภารกิจได้ ภายในปี 2022 อีกด้วย
ที่มา bbc, theguardian และ ladbible
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.