วัฒนธรรมการทำงานภายในแต่ละองค์กรนั้นไม่เหมือนกัน โดยในทางปฏิบัติจริงๆ แล้ว นโยบายการดำเนินงาน กฎและข้อระเบียบต่างๆ ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมขององค์กร รวมไปถึงวิสัยทัศน์ของผู้นำองค์กรด้วย
เมื่อพูดถึงกรณีนี้แล้ว เมื่อพนักงานทำงานที่ต้องรับผิดชอบเสร็จก่อนเวลาเลิกงาน แล้วเวลาที่เหลือพนักงานควรจะทำอะไร? จะไปช่วยงานคนอื่น หางานให้ตัวเองเพิ่ม
หรือควรจะหาความบันเทิงใส่ตัว เพื่อเป็นการพักผ่อนให้กับตัวเอง ในขณะที่แนวคิดของนายจ้าง คือการจ่ายเงินจ้างพนักงานเพื่อมา ‘ทำงาน’
ท่ามกลางความสับสนของเจ้านายรายหนึ่ง ก็หย่อนคำถามมาให้ชาวเน็ตร่วมแสดงความคิดเห็นบนเว็บไซต์ Quora ในกรณีที่ว่า…
มีพนักงานคนหนึ่ง มักจะทำงานเสร็จไวกว่าคนอื่นในทีม และเวลาที่เหลือทั้งวันก็มักจะเปิดเกมเล่น ไม่ยอมช่วยเหลือเพื่อนร่วมงาน คิดว่าเหมาะสมหรือไม่ที่จะไล่พนักงานคนนี้ออก?
หนึ่งในคำตอบที่ดีที่สุดจาก Anna Civolani เกี่ยวกับประเด็นนี้ กล่าวไว้ว่า…
“ตอนนี้ คุณกำลังคิดจะไล่หนึ่งในพนักงานเพียงคนเดียว ที่มีประสิทธิภาพและความซื่อสัตย์อย่างงั้นรึ?”
“พนักงานคนอื่นๆ อาจจะไม่ได้ต้องการความช่วยเหลือก็ได้ สิ่งที่ควรจะเป็นคือพวกเขามีประสบการณ์มากกว่าพนักงานที่ทำงานเสร็จไว
และอาจจะได้เรียนรู้แล้วว่า หากปล่อยให้เจ้านายรู้ว่าทำงานเสร็จทันก่อนเวลา จะนำไปสู่การถูกลงโทษด้วยการมอบงานเพิ่มหรือถูกไล่ออก เพราะฉะนั้นพวกเขาก็แกล้งทำเป็นทำงานตลอดทั้งวัน”
“พนักงานที่ทำงานเสร็จไว ก็ทำงานในส่วนของวันนั้นได้ไวและเสร็จสิ้นไปแล้ว เขาก็แบ่งเวลาที่เหลือได้เพราะเขาทำงานได้ดีและเร็ว มันผิดอะไรกับการทำแบบนั้นล่ะ?”
“เวลาว่างที่เหลือคือรางวัลที่ควรจะได้จากการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าคุณพรากรางวัลนี้ไปจากเขา คุณก็ควรจะให้รางวัลทางการเงินมาแทนที่ในส่วนนี้”
“ถ้าหากคุณลงโทษเขาด้วยการไล่ออก หรือมอบหมายงานเพิ่มเติมโดยที่ไม่เพิ่มเงินเดือนให้ คุณกำลังสอนเขาให้กลายเป็นแบบพนักงานคนอื่นๆ และจะแสร้งเป็นทำงานตลอดทั้งวันยังไงล่ะ”
ด้านความคิดเห็นของชาวเน็ตท่านอื่น กล่าวว่า “กลายเป็นเรื่องผิดๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในองค์กรทำงานยุคใหม่เสียแล้ว”
“ฉันหวังว่าผู้คนจะตระหนักกับปัญหาแบบนี้อย่างจริงจัง”
“นี่คือสิ่งที่ผมจัดการกับพนักงาน เมื่องานเสร็จ ผมก็ไม่ได้สนใจอะไร ผมห่วงที่ตัวงานมากกว่าภาพลักษณ์ขององค์กร”
“ไม่ควรคาดหวังความตั้งใจทำงานเต็มที่ 100% จากพนักงานหรอก มันจะทำลายพฤติกรรมและทำให้คนหมดไฟได้ ไม่ต้องไปทำอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้เลย”
“มันเป็นกลยุทธ์การทำงานอย่างหนึ่ง ที่มักจะทำงานให้น้อยที่สุด ในขณะที่ทำตัวให้ดูยุ่งๆ เพราะการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพอาจกลายเป็นการถูกลงโทษ”
“แน่นอนว่า รางวัลของการทำงานเสร็จสิ้น ก็คือได้งานเพิ่ม!?”
“งานของผมหากคุณทำงานดี คุณก็จะได้ทำงานในส่วนของคนอื่นด้วย”
คนสุดท้ายนี้กล่าวแบบเสียดสีอย่างเจ็บๆ คันๆ
“ผมจะไม่ทำงานอย่างเต็มที่ถวายหัวอีกแล้วในชีวิตนี้
ตลอดเวลากว่า 15 ปีในการทำงาน มันสอนผมว่าอย่าไปทุ่มเทให้กับมันจนสุดความสามารถคุณเลย “
ที่มา: quora, archyworldys, boredpanda
Leave a Reply
You must be logged in to post a comment.