นับว่าเป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่กำลังเป็นที่สนใจของประเทศไทยไปแล้ว เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา สำนักข่าวหลายสำนัก ได้ออกมารายงานการแจ้งข่าวประชาสัมพันธ์ของ งานสื่อสารองค์กร กองบริหารงานทั่วไป สำนักงานอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ซึ่งมีหัวข้อสุดน่าสนใจว่า เลือดตัวเงินตัวทอง (Varanus salvator) นั้น มีฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และเชื้อแบคทีเรียบางชนิด ซึ่งอาจเอาไปต่อยอดใช้รักษารักษาโควิด 19 ได้ในอนาคต
ข่าวประชาสัมพันธ์ในครั้งนี้ เกิดขึ้นจากการที่ นายสัตวแพทย์จิตรกมล ธนศักดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาเวชศาสตร์คลินิกและการสาธารณสุข คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กำลังพยายามวิจัยคุณสมบัติของเลือดตัวเงินตัวทองในการรักษาโรค
หลังจากที่เจ้าตัวเริ่มสนใจระบบภูมิคุ้มกันของสัตว์ชนิดนี้ เนื่องจากตัวเงินตัวทองเป็นสัตว์ที่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้จากการกินซากสิ่งมีชีวิต แถมยังอาศัยอยู่ได้แม้ในน้ำเน่าเสียนั่นเอง
โดยหลังจากที่เจ้าตัวขออนุญาต กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมลงเก็บตัวอย่างเลือดของตัวเงินตัวทอง (ซึ่งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง) มาทดลองในห้องปฏิบัติการ
คุณจิตรกมลก็พบว่าในเบื้องต้นเลือดของสัตว์ที่เก็บมามีฤทธิ์การยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และเชื้อแบคทีเรียบางชนิดได้
รวมถึงอาจต่อยอดเพื่อศึกษาการยับยั้งเชื้อไวรัสอื่นๆ อย่างไวรัส SARS-CoV-2 ต้นตอของโรคคโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ได้อีกด้วย
นี่นับว่าเป็นอีกข่าวประชาสัมพันธ์ที่น่าจับตามองเลยทีเดียว เพราะหากเลือดของตัวเงินตัวทองสามารถให้รักษาโรคโควิด-19 หรือมะเร็งได้จริงๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศแรกของโรคที่ประสบความสำเร็จในการวิจัยเรื่องนี้
และมันก็ไม่แน่เหมือนกันว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้ก็อาจจะมีส่วนช่วยในการผลักดันตัวเงินตัวทอง เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองที่อนุญาตให้เพาะพันธุ์เชิงเศรษฐกิจด้วย
ซึ่งสำหรับเรื่องนี้คุณจิตรกมลก็ได้แสดงความเห็นว่า เรื่องนี้อาจส่งผลดีต่อการวิจัยเพื่อพัฒนายาจากเลือดตัวเงินตัวทองไม่น้อย เพราะการใช้ประโยชน์จากตัวเงินตัวทองในรูปแบบนี้ การเพาะพันธุ์ในระบบฟาร์มจะตรงตามเป้าหมายและเหมาะสมกว่ามากนั่นเอง