มันเป็นเรื่องที่หลายๆ คนอาจจะเคยได้ยินกันมาบ้างว่าต้นไม้นั้น จริงๆ แล้วก็มี “ความรู้สึก” มากกว่าที่เราคิด เพียงแต่ด้วยลักษณะของพวกมัน ตามปกติมันจึงเป็นเรื่องยากที่ต้นไม้จะสื่อความรู้สึกให้เราทราบ
ดังนั้น เพื่อที่จะเรียนรู้ความรู้สึกนึกคิดของต้นไม้ให้มากขึ้นสักนิด เมื่อไม่นานนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮิบรูแห่งเยรูซาเลม จึงได้ตัดสินใจทดลองตัดต่อพันธุกรรมของต้นไม้ ให้พวกมันสามารถ “เรืองแสง” ได้ ในเวลาที่พวกมันเครียดดู
พวกเขาประสบความสำเร็จในการทดลองนี้ด้วยการปลูกฝังโปรตีนเรืองแสง ลงในคลอโรพลาสต์ของ ต้นมันฝรั่งสายพันธุ์ Solanum tuberosum ทำให้พวกมันเรืองแสงที่แม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า แต่ก็ตรวจสอบได้ด้วยกล้องฟลูออเรสเซนซ์ความละเอียดสูง
โดยการเรืองแสงที่ว่านี้ จะสามารถเปลี่ยนแปลงไปตามระดับความเครียด อ้างอิงจากปริมาณของอนุมูลอิสระที่อาจเป็นอันตรายภายในต้นไม้ในเวลานั้นๆ ทำให้เราระบุระดับความเครียดของต้นไม้ต่อ สถานการณ์ต่างๆ ได้เป็นอย่างดี
“เราสามารถเฝ้าติดตามสัญญาณเรืองแสงที่ปล่อยออกมาจากไบโอเซนเซอร์ และสังเกตเห็นการสะสมของอนุมูลอิสระออกซิเจน ระหว่างการตอบสนองระยะแรกต่อสภาวะความเครียดได้ ไม่ว่าจะจาก ความแห้งแล้ง อุณหภูมิสุดขั้ว หรือแสงที่มากเกินไป”
ดร. ชิโล โรเซนวาเซอร์ กล่าวในการวิจัย
นี่ถือว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์อย่างไม่น่าเชื่อ เพราะการที่เราสามารถทราบได้ว่าพืชไม่ชอบอะไรบ้างเช่นนี้ จะสามารถนำไปสู่การปลูกพืชที่มีประสิทธิภาพขึ้น และลดอัตตราการเสียหายของพืชต่อปัจจัยบางอย่างที่เคยสังเกตุได้ยากได้
และแม้ว่าในปัจจุบันทีมงานจะยังมีการตัดแต่งพันธุกรรมแค่ในมันฝรั่ง (เนื่องจากมันฝรั่งเป็นอาหารส่งออกมากถึง 40% ของอิสราเอล) อยู่ก็ตาม แต่ในอนาคตทีมวิจัยก็หวังเป็นอย่างมากว่าการตัดต่อพันธุกรรมนี้จะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับพืชอื่นๆ ต่อไปได้เช่นกัน
งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกในวารสาร Plant Physiology เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2021
ที่มา odditycentral, timesofisrael, newatlas และ Plant Physiology