เคยได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับระบบดาว “อัลฟา เซนทอรี” (Alpha Centauri) กันไหม? นี่คือชื่อของระบบดาวฤกษ์ ที่ได้ชื่อว่าอยู่ใกล้กับระบบสุริยะของเรามากที่สุด หนึ่งในเป้าหมายแรกๆ ที่มนุษย์เราน่าจะเดินทางไป ในตอนที่คิดค้นการเดินทางด้วยความเร็วเหนือแสงสำเร็จ
ปัญหาคือระบบดาวอัลฟา เซนทอรีนั้นแม้จะใกล้เราที่สุดแต่ก็อยู่ห่างออกไปถึง 4.37 ปีแสงเลยทีเดียว ดังนั้นการจะเดินทางไปที่นั่นที่ผ่านๆ มาจึงยังดูเหมือนจะเป็นแค่ความฝันเท่านั้น
แต่ดูเหมือนว่าความฝันในการเดินทางไปยังอัลฟา เซนทอรีนั้น อาจจะใกล้ความเป็นจริงขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนแล้วก็ได้ เพราะล่าสุดนี้เองในวารสาร Journal of the Optical Society of America B ฉบับที่ 38
ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็เพิ่งจะออกมากล่าวถึงวิธีการที่อาจจะทำให้เราเดินทางไปได้จริงๆ อัลฟา เซนทอรี และอาจจะสามารถทำได้ ภายในช่วงชีวิตนี้ เลยด้วย!!
วิธีการที่ถูกกล่าวถึงในครั้งนี้คือ การเดินทางโดยอาศัยแรงขับเคลื่อนจาก “เลเซอร์พลังงานสูง” ด้วยการยิงเลเซอร์ใส่ดาวเทียมหรือยานอวกาศอื่นๆ และให้พลังงานของมันดันยานไปข้างหน้านั่นเอง
วิธีการเดินทางเช่นนี้จริงๆ แล้วเป็นแนวคิดที่นักวิทยาศาสตร์เคยสันนิษฐานว่าน่าจะทำได้มานานแล้ว เพียงแต่ที่ผ่านๆ มามันเป็นแนวคิดที่ยังคงมีปัญหาอยู่มาก
โดยหนึ่งในปัญหาที่สำคัญที่สุด ก็คงจะไม่พ้นความจริงที่ว่า ชั้นบรรยากาศและ ดวงดาวต่างๆ อาจสามารถบิดเบือนแสงเลเซอร์ที่เราส่งขึ้นไปได้ จนทำให้แสงดังกล่าวคลาดไปจากเป้าหมาย หรือไม่มีกำลังมากพอที่จะส่งยานให้บินต่อไปได้
อย่างไรก็ตามในงานวิจัยชิ้นใหม่นี้ ดร.จาตุรา บันดูตุงคะจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ได้ออกมาระบุว่า จริงอยู่ที่แสงเลเซอร์ที่เราส่งขึ้นไปอาจถูกบิดเบือนโดยดาวต่างๆ ได้
แต่หากเรามองกลับกันดูหากเรายิงเลเซอร์จากตัวยานกลับมายังโลกเลเซอร์ดังกล่าวก็จะมีการบิดเบือนในรูปแบบเดียวกันกับแสงเลเซอร์ที่เราส่งขึ้นไปเช่นกัน
ดังนั้นเราจึงอาจจะสามารถประยุกต์ใช้ประโยชน์จากการบิดเบือนในจุดนี้ ให้ยานอวกาศยิงเลเซอร์ที่พลังงานไม่ต้องสูงกลับลงมาก่อน ก่อนที่เราจะคำนวณการบิดเบือน ปรับปรุงฐานเลเซอร์บนโลก และค่อยยิงเลเซอร์กลับไปอีกทีได้
“เพื่อที่จะเดินทางครอบคลุมระยะทางอันกว้างใหญ่ระหว่างอัลฟา เซนทอรีและระบบสุริยะของเราเอง เราต้องคิดนอกกรอบและสร้างวิธีการใหม่สำหรับการเดินทางในอวกาศระหว่างดวงดาวขึ้นมา”
ดร.จาตุรา บันดูตุงคะ ระบุ
โดยนอกจากปัญหาการบิดเบือนของเลเซอร์แล้ว ดร.พอล ซิบลีย์ หนึ่งในทีมวิจัยยังได้กล่าวถึงปัญหาในด้านพลังงานที่จะนำมาสร้างเลเซอร์ด้วย เพราะที่ผ่านมาเราเคยคิดว่า เลเซอร์ที่มีพลังงานพอจะขับเคลื่อนยานอวกาศนั้นอาจต้องใช้พลังงานถึง 100,000 เมกะวัตต์
(เพื่อเปรียบเทียบประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งสิ้นราวๆ 46,000 เมกะวัตต์ อ้างอิงจากข้อมูลของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2021)
อย่างไรก็ตามในการทำนวนใหม่นี้ ดร.พอล ซิบลีย์ได้พบว่าจริงๆ แล้วแม้เราจะต้องใช้ไฟถึง 100,000 เมกะวัตต์ ในช่วงหนึ่งจริงๆ ก็ตาม
แต่เราก็จำเป็นต้องรักษาระดับพลังงานนี้ไว้ “แค่ 10 นาที” โดยการใช้เลเซอร์ขนาดเล็กว่าจำนวนราวๆ 100 ล้านชิ้น ซึ่งสามารถสร้างครอบคลุมพื้นที่ราวๆ 1 ตารางกิโลเมตรได้
หลังจากนั้นตัวยานจะสามารถเดินทางไปต่อไปได้ด้วยแรงดันที่สะสมไว้ และการช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ จากเลเซอร์ที่เบากว่า ด้วยความเร็วราวๆ 20% ของความเร็วแสง ซึ่งจะทำให้มันไปถึงอัลฟา เซนทอรีได้ในเวลายาวๆ 22 ปี
ดังนั้นแล้วปัญหาในปัจจุบันจึงเหลืออยู่แค่ว่าเราจะใช้วัสดุใดมาสร้างยานอวกาศที่จะต้องทนแสงเลเซอร์เหล่านี้ให้ได้ก็เท่านั้น นั่นเพราะหากจะให้การเดินทางเป็นไปได้จริงๆ วัสดุดังกล่าว จะต้องสะท้อนแสงได้ถึงราวๆ 99.99%
ถึงอย่างนั้นก็ตามหากระบบนี้เป็นจริงขึ้นมาได้ ในวันที่ยานดังกล่าวเดินทางไปถึงอัลฟา เซนทอรีจริงๆ มันก็คงมีความเป็นไปได้สูงเลยที่เราจะคิดว่าการลงทุนนี้คุ้มค่า
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อโครงสร้างระบบดังกล่าวนี้ จะทำให้การยิงยานอวกาศอื่นๆ ในอนาคตเป็นไปได้ง่ายขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งในด้านการเตรียมการ และในด้านค่าใช้จ่ายเลย
ที่มา iflscience