สำนักข่าวเทคโนโลยี Techsauce รายงานอ้างอิงจากสื่อเวียดนาม ถึงแผนยุทธศาสตร์ชาติของประเทศเวียดนาม ภายใต้กลยุทธ์ “รัฐบาลดิจิทัลปี 2021-2025” ซึ่งมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
โดยเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกที่เวียดนามประกาศเข้าสู่ระบบรัฐบาลดิจิทัล หรือที่เรียกว่า “e-government” เพื่อพัฒนาประเทศให้ทันยุคดิจิทัล
แผนงานนี้ เป็นยุทธศาสตร์ที่จะใช้ตั้งแต่ปี 2021 ไปจนถึง 2025 และต่อเนื่องกับแผนใหม่ที่จะออกมาในอนาคต ยาวถึงปี 2030
แผนงานดังกล่าว ถูกสรุปออกมาเป็น 6 ยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเชิงกว้างๆ ซึ่งประกอบไปด้วย
-พัฒนารัฐบาลดิจิทัล ผ่านการดำเนินงานที่ปลอดภัยรัดกุมที่สุด บนพื้นฐานของสภาพแวดล้อมแบบดิจิทัล
– ปรับเปลี่ยนระบบการทำงาน ให้มีพื้นฐานบนข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล
– นำเสนอคุณภาพบริการภาครัฐที่ดียิ่งขึ้น ตัดสินใจได้ฉับไวยิ่งขึ้น และวางนโยบายได้ดียิ่งขึ้น
– ใช้งานทรัพยากรต่างๆ อย่างคุ้มค่า
– พัฒนาการอำนวยความสะดวกของภาครัฐในด้านต่างๆ นำประเทศสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล
– รับรู้ปัญหาในด้านสังคม-เศรษฐกิจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อง่ายต่อการบริหารจัดการและพัฒนา
สำหรับบริการหลักๆ ที่เราน่าจะได้เห็นเกิดขึ้นในเวียดนาม ในช่วง 5-10 ปีข้างหน้านั้น ก็อาจจะประกอบไปด้วยการเปลี่ยนแปลงของภาครัฐ และเสริมบริการต่างๆ เข้ามาเช่น..
– การสร้างฐานข้อมูลกลางของเวียดนาม เพื่อทำฐานข้อมูลประชากรขนาดใหญ่ ผ่านเทคโนโลยี Big Data และเรียกใช้งานได้ทันที กรณีที่ต้องการข้อมูลของประชาชน
– การพัฒนาข้อมูลเฉพาะด้าน เช่น ข้อมูลการเงิน ข้อมูลการเกษตร ฐานข้อมูลด้านสุขภาพของประชาชน
– การพัฒนาระบบความปลอดภัยของเครือข่ายหน่วยงานรัฐ
– การนำเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่าง AI, Blockchain หรือ Internet of things มาใช้งานในหน่วยงานรัฐ จากที่ก่อนหน้านี้มีแค่การศึกษาวิจัย หรือเป็นการใช้งานในภาคเอกชนเท่านั้น
ซึ่งถ้าสามารถเดินตามแผนที่วางไว้ จะช่วยให้รัฐบาลของเวียดนามพัฒนาขึ้นทัดเทียมกับอีกหลายชาติในอาเซียนและเอเชียได้
ปิดท้ายด้วยเป้าหมายของแผนการณ์ในครั้งนี้..
รัฐบาลเวียดนามตั้งเป้าว่า ถ้าดำเนินงานได้ตามเป้าที่วางไว้ ในปี 2030 เวียดนามจะเป็นประเทศที่ติดอันดับ 30 ประเทศแรกของโลก ในด้านรัฐบาลดิจิทัล ตามการจัดอันดับของ UN
ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าตอนนี้เวียดนามอยู่ในอันดับที่ 86 ส่วนประเทศไทยนั้น อยู่อันดับที่ 57 ของโลกในที่ล่าสุด
โดยมีท็อป 3 ประเทศก็คือเดนมาร์ก เกาหลีใต้ และเอสโตเนีย ตามลำดับ