มันเป็นเรื่องที่เราทราบกันอย่างดีว่าในปัจจุบันการรักษาสิ่งแวดล้อมนั้น ได้กลายเป็นอีกหนึ่งในประเด็นสำคัญของโลกไปแล้ว ดังนั้นมันจึงมีบริษัทจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ที่กำลังพยายามหาทางผลิตพลังงานทางเลือกด้วยพลังงานสะอาดที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตามสำหรับบริษัทชื่อ “Wind Catching Systems AS” ในนอร์เวย์แล้วดูเหมือนแนวคิดการผลิตพลังงานสะอาดของพวกเขานั้นดูจะ “ยิ่งใหญ่” กว่าบริษัทอื่นๆ ไม่ใช่น้อยเลย
นั่นเพราะเมื่อล่าสุดนี้เอง บริษัทแห่งนี้ก็เพิ่งจะออกมาประกาศไอเดียใหม่ ที่จะทำ “Windcatcher” กังหันลมผลิตไฟฟ้าขนาดยักษ์ที่ใหญ่ยิ่งกว่าหอไอเฟลอีกนั่นเอง
คุณ Ronny Karlse ผู้เป็น CFO ของ Wind Catching Systems AS เล่าว่าแนวคิด Windcatcher ของพวกเขานั้นมาจากการที่ผลิตบริษัทของพวกเขา มีนโยบายที่จะดัดแปลงผลงานที่เรารู้อยู่แล้วว่าใช้งานได้จริงเป็นสิ่งที่ดีขึ้น มากกว่าที่จะคิดสิ่งใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะใช้ได้ไหม
ดังนั้นแทนที่จะคิดหาวิธีการเก็บเกี่ยวพลังงานลมแบบใหม่ๆ ทางบริษัทจึงเลือกทางเลือกที่ดูจะสมจริงกว่าอย่างการเอากังหันลมผลิตไฟฟ้าจำนวนมากไปติดบนสิ่งปลูกสร้างเดียวและใช้มันผลิตพลังงานมากกว่า
หนึ่งในแนวคิดจำนวนมากของโปรเจกต์ Windcatcher คือพวกเขาจะสร้างกังหันลมแกนนอนไว้กลางน้ำด้วยเทคโนโลยีเดียวกับแท่นขุดน้ำมัน
ก่อนที่จะใช้มันผลิตไฟฟ้า โดยอาศัย “Multirotor effect” ผลการทดลองที่พวกเขาพบว่า การใช้โรเตอร์ขนาดเล็กหลายๆ อันที่อยู่ใกล้กัน โดยรวมแล้วจะให้พลังงานมากกว่าการตั้ง กังหันลมผลิตไฟฟ้าจำนวนเท่ากันแบบเดียวๆ
อ้างอิงจากทางบริษัท หากสิ่งก่อสร้างนี้ถูกสร้างได้จริงๆ มันจะมีขนาดใหญ่ยิ่งกว่าหอไอเฟล และผลิตไฟฟ้าได้มากพอที่จะให้ผู้คนใช้ได้มากถึง 80,000 ครัวเรือน ต่อสิ่งก่อสร้างหนึ่งชิ้น
ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างน่าสนใจเลยสำหรับการผลิตพลังงานไฟฟ้าที่ไม่ทำให้เกิดมลพิษใดๆ เช่นนี้
นอกจากนี้จุดที่น่าสนใจอีกจุดของบริษัท Wind Catching Systems AS คือพวกเขานั้นไม่อายที่จะนำเสนอข้อจำกัดของระบบที่ตัวเองคิดแต่อย่างไร
โดยในการนำเสนอ Windcatcher พวกเขาได้ระบุด้วยว่าจุดอ่อนสำหรับของระบบนี้ คือในปัจจุบันพวกเขายังไม่แน่ใจว่ามันจะส่งผลกระทบใดๆ กับนกย้ายถิ่นฐานหรือไม่
นั่นเพราะการกังหันลมที่หมุนในท้องฟ้าเช่นนี้ เป็นที่รู้กันมานานแล้วว่ามักจะทำให้เกิดอุบัติเหตุกับนกได้ ดั่งเช่นที่เราจะเห็นกันกับเครื่องยนต์ของเครื่องบินหรือกังหันลมผลิตไฟฟ้าตามปกติ
“สิ่งที่เราได้ยินมา แต่ยังจำเป็นต้องตรวจสอบ คือผลงานของเรามันจะออกมาเกือบจะเหมือนกำแพงกังหัน นกจึงไม่น่าจะบินผ่านมันเหมือนตามปกติ แต่เวลากังหันลมหมุนจริงๆ มันจะเร็วมากจนไม่เห็นใบพัดมันจึงไม่แปลกที่นกจะคิดว่าบินผ่านไปได้
ในเวลาเราจึงกำลังคิดหาทางจะทำให้สิ่งนี้เห็นได้ชัดขึ้นนกจะได้คิดก่อนที่จะเข้ามาตาย นี่เป็นสิ่งที่หลายคนถามเรา และเรากำลังดำเนินการอย่างจริงจัง หากใครมีข้อเสนอแนะที่ดี เราก็ยินดีจะพูดคุยเสมอ” คุณ Karlse อธิบาย
นี่นับว่าเป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจและมีความเป็นไปได้จริงสูงในอนาคตอันใกล้นี้เลยก็ว่าได้ อย่างไรก็ตามเช่นเดียวกับที่สิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่อื่นๆ ต้องใช้เวลา คุณ Karlse ก็คาดว่า Windcatcher เองก็อาจจะต้องใช้เวลาหลายปีในการสร้างเช่นกัน
โดยในปัจจุบันทาง Wind Catching Systems AS กำลัง ร่วมมือกับวิศวกรที่ Politecnico di Milano เพื่อมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาและพิสูจน์เทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลัง Windcatcher อยู่
และหากทุกอย่างเป็นไปด้วยดี คุณ Karlse ก็เชื่อว่า Windcatcher น่าจะพร้อมเข้าสู่ขั้นตอนก่อสร้างจริงๆ ในช่วงปี 2022 นั่นหมายความว่าเราน่าจะได้เห็น Windcatcher จริงๆ อย่างเร็วที่สุดในช่วงปี 2023-2024 นั่นเอง
ที่มา iflscience และ windcatching