ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อราวๆ หกสิบกว่าปีก่อน มนุษย์ได้พบกับไวรัสชนิดใหม่ที่ค่อยๆ คืบคลานแพร่กระจายไปทั่วโลก ผ่านทางเลือด และเพศสัมพันธ์ จนในปัจจุบันเรามีผู้คนมากกว่า 35 ล้านคนต้องทุกข์ทรมานไปกับมัน
เจ้าไวรัสร้ายนี้ในเวลาต่อมาถูกเรียกกันว่า “เชื้อไวรัสภูมิคุ้มกันบกพร่องในมนุษย์” (Human Immunodeficiency Virus) หรือที่เรารู้จักกันในนาม HIV เชื้อไวรัสที่เราเคยคิดกันมาตลอดว่าคงจะไม่มีวิธีรักษาให้หายขาด
แต่เมื่อเทคโนโลยีทางการแพทย์พัฒนาไป ในปัจจุบันเราก็ทราบกันแล้วว่าจริงๆ แล้ว HIV ไม่เพียงแต่เป็นสิ่งที่อาจรักษาให้หายขาดได้เท่านั้น แต่ที่สำคัญในตอนนี้วัคซีนป้องกันโรคดังกล่าวอย่าง “HIVconsvX” ก็อาจกำลังจะเข้าถึงมือของผู้ป่วยกลุ่มแรกแล้วด้วย!!
ข่าวความคืบหน้าในครั้งนี้ถูกเผยแพร่ออกมาโดยมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด แห่งประเทศอังกฤษ ซึ่งในปัจจุบันได้เข้าร่วมโครงการ European Aids Vaccine Initiative (EAVI2020) ซึ่งเป็นโครงการวิจัยวัคซีน ที่ได้รับความร่วมมือระดับนานาชาติ
โดยพวกเขาได้เปิดให้นักวิทยาศาสตร์ให้พื้นที่มหาวิทยาลัยในการทดลองเฟส 1 ของ วัคซีน HIVconsvX ซึ่งจะเป็นการฉีดวัคซีนที่ว่าให้กับอาสาสมัครอายุตั้งแต่ 18-65 ปี จำนวน 13 คน เป็นจำนวน 2 เข็ม ในระยะเวลาที่ห่างกัน 4 สัปดาห์
อ้างอิงจากคุณ Tomáš Hanke ศาสตราจารย์ด้านภูมิคุ้มกันวัคซีนที่สถาบันเจนเนอร์ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดหัวหน้านักวิจัยในการทดลองครั้งนี้
วัคซีน HIVconsvX นั้นมีการทำงานแตกต่างไปจากวัคซีนโรคร้ายตามปกติที่มักพยายามกระตุ้น B-cell ในเลือดของเราให้ปล่อยแอนติบอดีออกมา
กลับกันวัคซีนตัวนี้จะกระตุ้น “T-cells” ซึ่งรับหน้าที่ฆ่าเซลล์ที่ติดเชื้อไวรัสหรือมะเร็งโดยตรง ด้วยการให้ข้อมูลจุดอ่อนของ HIV กับมันแทน ซึ่งในทางทฤษฎีจะสามารถทำให้มนุษย์ มีภูมิคุ้มกันที่ดีต่อไวรัสนี้ได้ไม่แพ้การกระตุ้น B-cell ตามปกติ
แน่นอนว่าด้วยความที่นี่ยังคงเป็นเพียงการทดลองเฟส 1 ที่นักวิจัยต้องการวัดความปลอดภัย ผลข้างเคียง และประสิทธิภาพเบื้องต้นของวัคซีนอยู่เท่านั้น ดังนั้นเราจึงอาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีกว่าที่วัคซีน HIV จะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายจริงๆ
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามนี่ก็นับเป็นอีกก้าวที่ยิ่งใหญ่ของวงการวัคซีนโลกเลยก็ว่าได้ และมันก็ไม่แน่เหมือนกันว่าด้วยสถานการณ์ที่หลายประเทศให้ความสำคัญต่อวัคซีนมากขึ้นเช่นนี้ วัคซีน HIV เองก็อาจจะถูกนำมาใช้งานได้จริงๆ เร็วกว่าที่หลายๆ คนคิดไว้มากก็เป็นได้
ที่มา iflscience และ University of Oxford