“Active camouflage” หรือความสามารถในการเปลี่ยนสีร่างกายให้เป็นไปตามสิ่งแวดล้อม เป็นสิ่งที่เรามักพบได้ในสัตว์ทะเล และสัตว์ตระกูลกิ้งก่า โดยความสามารถนี้เรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในความสามารถที่เราพบได้บ่อยที่สุดตามเกมหรือหนังไซไฟเลยก็ว่าได้
แต่เคยสงสัยกันไหมว่าในโลกแห่งความเป็นจริง “สามารถในการเปลี่ยนสีร่างกายแบบเรียลไทม์” ของหุ่นยนต์มันจะเป็นอย่างไรกัน เพราะล่าสุดนี้เองนักวิทยาศาสตร์ ก็เพิ่งจะเปิดตัวหุ่นยนต์กิ้งก่าตัวใหม่ที่จะแสดงความสามารถนี้ให้เราเห็นกันแล้ว
หุ่นยนต์ตัวใหม่นี้ชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่า Chameleon robot โดยมันเป็นผลงานของทีมวิจัย จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ของเกาหลี และแม้มันจะไม่ใช่ หุ่นยนต์ที่มีระบบพรางตัวตัวแรกครั้งแรก
แต่มันก็เป็นหุ่นยนต์ที่ถือว่าก้าวหน้าในด้านการพรางตัวมาก
นั่นเพราะ Chameleon robot นั้นถูกออกแบบมา ให้ใช้วัสดุเปลี่ยนสีซึ่งทำจากจอแสดงผลหลายชั้นแต่กลับอ่อนนุ่มยืดหยุ่นได้ แถมยังอาศัยเทคโนโลยีนาโนเซนเซอร์ตรวจจับสีของพื้นผิวรอบๆ
ซึ่งวิธีการเช่นนี้ทำให้หุ่นยนต์ตัวใหม่นี้ สามารถเปลี่ยนสีได้ในแทบจะทันทีที่ต้องการ สามารถเปลี่ยนสีได้โดยที่เคลื่อนไปพร้อมๆ กัน แถมยังสามารถเปลี่ยนสีแบบไล่เป็นส่วนๆ ไป ไม่ใช่ทีเดียวทั้งตัวด้วย
เช่นเดียวกับเทคโนโลยีใหม่ๆ หลายชนิดในโลก คุณ Seung Hwan Ko จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซลหนึ่งในทีมผู้สร้างหุ่นตัวนี้ยอมรับว่า เทคโนโลยีของเขาคงจะถูกใช้ในทางทหารอย่างการสร้างหุ่นสอดแนม หรือพรางเครื่องแบบทหารก่อน
อย่างไรก็ตามเขาก็หวังว่าผลงานของตนนั้น จะถูกนำไปใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเสื้อหรือรถที่เปลี่ยนสีได้ในอนาคต และหากวันนั้นมาถึงจริงๆ มันก็อาจจะไม่ใช่เรื่องเกินจริงอีกต่อไปที่เราจะได้เห็นรถแบบในหนังเจมส์ บอนด์ในชีวิตจริงสักที
(งานวิจัยหุ่นตัวนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม)
ที่มา Nature Communications, techxplore, futurism และ inverse