เคยได้ยินเรื่องราวของ “เกราะเชนเมล” หรือ “เกราะโซ่ถัก” กันไหม? เดิมทีแล้ว นี่คือหนึ่งในเครื่องป้องกันที่ได้รับความนิยมอย่างมาก โดยเฉพาะทางยุโรปในยุคกลาง ก่อนที่จะเสื่อมความนิยมจากการพัฒนาของเครื่องป้องกัน และในปัจจุบันถือว่าหาได้ค่อนข้างยากแล้ว
แต่ใครจะไปคิดว่าเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาไปล่าสุดนี้เองเราก็อาจจะได้เห็นการกลับมาของเกราะโซ่ถักกันอีกครั้งแล้ว
เพราะล่าสุดนี้เองนักวิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย หรือ แคลเทค ก็เพิ่งจะออกมาเปิดตัว ผลงานโครงสร้างรูปร่างคล้ายเกราะเชนเมลรุ่นใหม่ มีจุดเด่นอยู่ที่การใส่สบายมีความยืดหยุ่นสุดๆ แต่ก็ยังแข็งตัวป้องกันอันตรายที่เข้ามาได้ ราวกับผ้าคลุมแบทแมนไม่มีผิด
อ้างอิงจากทีมวิจัย ผลงานของพวกเขานั้นมีจุดเด่นอยู่ที่โครงสร้าง ซึ่งเป็นการเชื่อมต่อกันของทรงแปดหน้า (Octahedron) คล้ายพีระมิดสองอันติดกัน ซึ่งทำให้วัสดุแต่ละอันเชื่อมต่อกันอย่างแน่นหนา มีความคงทนสูงขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ โดยไม่ต้องเสียความยืดหยุ่นไป
ที่สำคัญมันยังสามารถทำขึ้นได้จากทั้งโพลีเมอร์ ใยผ้าตามปกติ หรือกระทั่งโลหะ และทุกสิ่งที่กล่าวมาจะสามารถแข็งตัวขึ้นได้หมดในทันทีด้วยการบีบวัสดุเข้าด้วยกัน
“ให้ลองคิดเสียว่ามันเป็นกาแฟในถุงปิดผนึกสุญญากาศ
เมื่อยังบรรจุอยู่ในถุงกาแฟจะติดกันจนแข็งสุดๆ
แต่พอเราเปิดบรรจุภัณฑ์ กาแฟเหล่านั้นจะไม่ติดกันอีกต่อไป และคุณจะสามารถเทมันออกมาได้ ราวกับว่ามันเป็นของเหลวเลย”
Chiara Daraio ศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรมเครื่องกล
ผู้เขียนงานวิจัยกล่าว
การทดลองความยืดหยุ่นในภาวะ “คลายตัว”
หากภาพไม่ขยับให้ลองกดที่ภาพดู
ความสามารถนี้เองทำให้ผลงานของพวกเขาอาจสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานได้หลายอย่างแบบไม่น่าเชื่อ
โดยในห้องทดลองทีมวิจัยได้พบว่าวัตถุที่ถูกนำมาเรียกตัวเช่นนี้จะสามารถรับน้ำหนักสิ่งของได้มากกว่าน้ำหนักตัวของมันเองถึง 50 เท่า ในภาวะ “บีบตัว” เลย
การทดลองความทนทานในภาวะ “บีบตัว”
หากภาพไม่ขยับให้ลองกดที่ภาพดู
ดังนั้น นอกจากชุดป้องกันที่กล่าวมาแล้ว การเชื่อมต่อแบบนี้ยังอาจนำไปใช้กับสิ่งทอ หรือแม้แต่การสร้างสะพาน และการจัดโครงสร้างบาดแผลในขณะที่อาการบาดเจ็บกำลังรักษาตัวได้ไม่ยาก
และมันก็ไม่แน่เหมือนกันว่าในอนาคตโครงสร้างในรูปแบบนี้ก็อาจจะกลายเป็นอะไรที่ถูกนำไปใช้งานอย่างแพร่หลายเลยก็ได้