มันเป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในปัจจุบันชีวิตของมนุษย์เรานั้น ผูกพันกับอินเทอร์เน็ตมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน จนในบางครั้งโลกออนไลน์ก็แทบจะกลายเป็นโลกใบที่สองของหลายๆ คนไปแล้ว
แต่ทราบกันหรือไม่ว่าโลกใบที่สองของหลายๆ คนนั้น จริงๆ แล้วอาจจะกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงที่จะพังทลายกว่าที่เราคิดไว้ก็ได้ นั่นเพราะอ้างอิงจากงานวิจัยซึ่งได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร SIGCOMM 21
ในอีกไม่กี่สิบปีข้างหน้า โลกอินเทอร์เน็ตของเรานั้นอาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสิ่งที่เรียกกว่า การปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา (Coronal mass ejection หรือ CME) จนทำให้เกิดปัญหาราวกับเป็น “วันสิ้นอินเทอร์เน็ต” ได้เลย
อ้างอิงจากรายงานของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย การปลดปล่อยก้อนมวลสารจากโคโรนา เป็นการปล่อยพลาสมาและสนามแม่เหล็กจากดวงอาทิตย์ (หรือดาวฤกษ์) รูปแบบหนึ่ง
โดยพายุสุริยะรูปแบบนี้จริงๆ แล้วก็เกิดขึ้นอยู่เป็นพักๆ และมีผลกระทบที่ไม่ดีนักต่อดาวเทียมมาเป็นเวลานานแล้ว เพียงแต่ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมาซึ่งเทคโนโลยีของมนุษย์พัฒนาไปแบบก้าวกระโดด พายุสุริยะรูปแบบนี้มันไม่ได้เกิดขึ้นแบบรุนแรงนัก
อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ได้พบว่าในอีกหลายสิบปีข้างหน้าการปล่อยพลังงานในรูปแบบนี้จะค่อยๆ รุนแรงขึ้นอีกครั้งแบบที่เคยเกิดขึ้นในช่วงในช่วงปี 1921 ซึ่งเคยทำให้ไฟดับทั่วเมือง และระบบรถไฟเก่าแก่เสียหายมาแล้ว
ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นนี้ หากโชคร้ายก็อาจถึงขั้นทำความเสียหายต่อสายเคเบิลอินเทอร์เน็ตใต้ทะเลที่เชื่อมระบบอินเทอร์เน็ตในหลายประเทศเข้าด้วยกันได้ นำไปสู่การขาดหรือดับลงของระบบอินเทอร์เน็ตทั่วโลก ซึ่งอาจสร้างความเสียหายได้มหาศาล
ที่สำคัญปัญหาพายุสุริยะนั้นยังไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวและหายไปเลยด้วย เพราะมันมีโอกาสมากที่สุดถึง 12% ที่จะเกิด CME ขนาดใหญ่ขึ้นทุกๆ สิบปี
ดังนั้นทีมนักวิจัยจึงบอกว่ามันอาจจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องคิดหาทางป้องกันเหตุการณ์นี้อย่างจริงจัง ก่อนที่โครงสร้างโลกออนไลน์ของเราจะเสียหายไปแบบยากที่จะกู้คืนมา
ที่มา
www.ics.uci.edu/~sabdujyo/papers/sigcomm21-cme.pdf
www.iflscience.com/space/a-solar-tsunami-could-entirely-wipe-out-the-internet-within-a-decade-suggests-study/