นับตั้งแต่ที่ประเทศญี่ปุ่นต้องพบกับภัยพิบัตินิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกูชิมะ เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2011 เวลาก็ได้ล่วงเลยไปกว่า 10 ปีแล้ว มันจึงเป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะเริ่มเห็นนักวิทยาศาสตร์เริ่มตรวจสอบพื้นที่รอบๆ โรงไฟฟ้านี้อีกครั้ง เพื่อวัดระดับความอันตรายของพื้นที่
แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าในการวัดระดับความอันตรายจากรังสีนั้น ในบางครั้งมันก็ไม่ใช่เรื่องที่เหมาะกับการจะใช้มนุษย์ไปทำตรงๆ นัก
ดังนั้นในงานวิจัยชุดล่าสุดนี้เองนักวิทยาศาสตร์จากประเทศญี่ปุ่น จึงเลือกที่จะส่ง “งู” จำนวนหนึ่ง (ส่วนมากเป็นงูสิง) เข้าไปทำหน้าที่ตรวจสอบค่ารังสีในพื้นที่จากทั้งเครื่องวัดและค่ารังสีตกค้างในตัว ในฐานะของ “งูรังสี” เสียเลย
อ้างอิงจากรายงานของ The Guardian งูที่ถูกใช้ในการสำรวจครั้งนี้ จะถูกติดตั้งเครื่องติดตาม GPS และเครื่องวัดปริมาณรังสีที่ติดไว้ตามตัวของมัน
ก่อนที่พวกมันจะถูกนำไปปล่อยในพื้นที่ “เขตต้องห้ามฟูกูชิมะ” (Fukushima Exclusion Zone) พื้นที่ขนาดราวๆ 1,150 ตารางกิโลเมตร ซึ่งจนถึงปัจจุบันยังเป็นเขตหวงห้ามไม่ให้คนเข้าไปอยู่อีกที
แน่นอนว่านี่อาจจะเป็นวิธีการที่แปลกอยู่บ้าง แต่มันก็ถือเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะต่างจากมนุษย์ สิ่งมีชีวิตแบบงู จะมีความสามารถในการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้ดีกว่ามนุษย์มาก
และทำให้พวกมันเหมาะสมที่จะใช้สังเกตการณ์สภาพพื้นที่ในสถานที่จริงในหลายๆ ด้าน ซึ่งรวมถึงการสะสมของรังสีจากการทานสัตว์อื่นๆ ในพื้นที่
ว่าง่ายๆ ว่าหากงูที่พวกเขาปล่อยไปมีการปนเปื้อนของรังสีของ มันจะมีความเป็นไปได้สูงตามไปด้วยว่าระบบนิเวศทั้งระบบยังคงมีการปนเปื้อนในระดับเดียวกันตามไปด้วยนั่นเอง
ซึ่งในกรณีนี้ การปล่อยงูดังกล่าวก็ทำให้นักวิจัยพบเรื่องที่น่าสนใจพอสมควร นั่นคือไอโซโทปกัมมันตภาพรังสีในเขตต้องห้ามฟูกูชิมะดูเหมือนว่า จะไม่ได้ลดลงแบบสม่ำเสมอนัก
แต่การลดลงของมันจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงตามลักษณะภูมิประเทศ ทำให้งูที่อาศัยในที่ต่างๆ กันได้รับปริมาณรังสีเข้าไปต่างกันไปด้วย
ดังนั้นในปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์จึงกำลังวางแผนที่จะติดตามงูและสัตว์อื่นๆ ในพื้นที่ต้องห้ามแห่งนี้เพิ่มเติม โดยหวังว่าพวกมันจะช่วยระบุว่าพื้นที่ใดปลอดภัยสำหรับที่อยู่อาศัยของมนุษย์ได้เร็วกว่าพื้นที่อื่น หากว่าเป็นไปได้
ที่มา futurism, theguardian และ thebulletin