มันเป็นเรื่องที่เรารู้กันว่าจักรวาลนั้นเป็นอะไรที่ยิ่งใหญ่ และสิ่งที่มนุษย์เราเห็นในปัจจุบันก็เป็นเพียงแค่เสี้ยวหนึ่งของจักรวาลอันแสนกว้างใหญ่ก็เท่านั้น ดังนั้นการที่เราจะจำลองจักรวาลจึงไม่ใช่อะไรที่ทำได้ง่ายๆ เลย
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตามความยากลำบากมันก็ไม่ใช่สิ่งที่จะหยุดมนุษย์ได้เช่นกัน นั่นเพราะล่าสุดนี้เองภายในวารสาร Monthly Notices of the Royal Astronomical Society ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็เพิ่งจะออกมาเปิดตัวการจำลองอวกาศเสมือนที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา
และมันก็เปิดให้ทุกคนที่สนใจสามารถดาวน์โหลดไปทดลองใช้ดูได้แบบฟรีๆ ด้วย (แม้การโหลดจะยุ่งยากอยู่ก็ตาม)
การจำลองจักรวาลในครั้งนี้มีชื่อว่า “Uchuu” (มาจากภาษาญี่ปุ่นแปลว่า “จักรวาล”) จักรวาลเสมือนในลูกบาศก์ที่แต่ละด้านมีขนาดเท่ากับจักรวาล 9,630 ล้านปีแสง และประกอบด้วยอนุภาคกว่า 2 ล้านล้านอนุภาค
ซึ่งแม้ว่าจะไม่ละเอียดระดับที่สามารถจำลองดาวเคราะห์และดาวฤกษ์แต่ละดวงได้ตรงๆ แต่มันก็ช่วยให้ทีมนักวิจัยนานาชาติสามารถจำลองปฏิสัมพันธ์ของกาแล็กซีต่างๆ ได้ แบบละเอียดซับซ้อนอย่างเหลือเชื่อ
Uchuu นั้น ถูกสร้างขึ้นโดยใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ATERUI II ซึ่งถือว่าดีที่สุดในโลกสำหรับวงการดาราศาสตร์แล้ว โดยในการสร้างจักรวาลเสมือนนี้ขึ้นทีมงานต้องใช้โพรเซสเซอร์ถึง 40,200 ตัว และพื้นที่ถึง 3 เพตาไบต์ (ประมาณ 3 ล้านจิกะไบต์)
แต่ถึงอย่างนั้น ผลที่ออกมาก็ไม่เพียงแต่จะช่วยให้นักดาราศาสตร์เห็นว่าสัดส่วนขององค์ประกอบต่างๆ ส่งผลต่อโครงสร้างในจักรวาลบ่างเท่านั้น แต่มันยังสามารถช่วยให้พวกเขาย้อนไปดูการรวมตัวของกาแล็กซีและกระจุกกาแล็กซีในช่วง 13.8 พันล้านปีนับตั้งแต่บิ๊กแบงด้วย
“Uchuu เป็นเหมือนเครื่องย้อนเวลา มันสามารถข้าม ย้อน หรือหยุดเวลาเมื่อไหร่ก็ได้ที่เราต้องการ ซูมเข้าไปยังกาแล็กซีเป็นอันๆ หรือซูมออกเพื่อให้เห็นภาพคลัสเตอร์ทั้งหมดได้
เราจะสามารถเห็นทุกสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกขณะและในทุกที่ของจักรวาลตั้งแต่วันแรกจนถึงปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นเครื่องมือสำคัญในการศึกษาจักรวาลเลย”
Julia F. Ereza นักวิจัยระดับบัณฑิตศึกษาจาก
Instituto de Astrofísica de Andalucía ระบุ
และสำหรับใครที่สนใจอยากทดลองใช้ Uchuu ดู การจำลองนี้ก็สามารถเข้าถึงได้ จากเว็บไซต์ skiesanduniverses.orgเลย
ที่มา nao, iflscience, skiesanduniverses และ oup