เชื่อว่าหลายคนคงจะเคยได้ยินกันมาบ้าง ว่าในปัจจุบันเทคโนโลยีควอนตัมนั้น กำลังเป็นสิ่งที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่สิ่งที่มีอยู่ในหนังอย่างที่เราเคยเข้าใจ
แต่ทราบหรือไม่ว่าล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์ก็ประสบความสำเร็จในการทดลองกับเทคโนโลยีควอนตัม จนถึงขั้นสามารถ สร้างปรากฏการณ์ควอนตัมที่ทำให้สสารล่องหนได้เป็นครั้งแรกแล้ว!!
ความสำเร็จในครั้งนี้เป็นผลงานของทีมนักฟิสิกส์จากสถาบัน MIT ของสหรัฐฯ ซึ่งได้ทดลองใช้เลเซอร์เพื่อบีบอัดและทำให้ก๊าซลิเธียมเย็นลงจนใกล้กับจุดศูนย์สัมบูรณ์ (-273.15 องศาเซลเซียส)
และพบว่าก๊าซดังกล่าวจะมองเห็นได้ยากขึ้นเรื่อยๆ จนราวกับว่ามัน “ล่องหน” หายไปในที่สุด
ปรากฏการณ์นี้ เคยถูกทำนายไว้ตั้งแต่ในปี 1925 โดยนักฟิสิกส์ชาวออสเตรียชื่อ Wolfgang Pauli และถูกเรียกกันว่า Pauli blocking หรือการยับยั้งการกระเจิงแสงของเพาลีอีกที
โดยทฤษฎีหากจะอธิบายให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือในภาวะอุณหภูมิต่ำมากๆ อนุภาคภายในอะตอมจะเกาะติดกันมากๆ จนไม่เหลือพื้นที่ตอบสนองกับโฟตอนเพื่อให้แสงกระจาย ส่งผลให้อะตอมของก๊าซมีลักษณะคล้ายกับว่าล่องหนไปนั่นเอง
นี่ถือว่าเป็นการทดลองที่น่าสนใจมาก เพราะไม่เพียงแต่มันจะช่วยยืนยันทฤษฎีในอดีตว่าเราสามารถใช้ปรากฏการณ์ควอนตัมทำให้สสารล่องหนได้จริงๆ เท่านั้น
แต่การทดลองนี้ยังอาจเป็นประโยชน์มากในการพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ในอนาคตด้วย นั่นเพราะปัญหาสำคัญของควอนตัมคอมพิวเตอร์ในปัจจุบัน คือมันมักจะสูญเสียข้อมูลควอนตัมไปกับโฟตอนนั่นเอง
ที่มา
www.eurekalert.org/news-releases/935119
www.livescience.com/gas-made-so-cold-invisible
scitechdaily.com/mit-physicists-use-fundamental-atomic-property-to-turn-matter-invisible/
www.bbc.com/thai/international-59364939