เมื่อพูดถึงการปล่อยจรวดขึ้นสู่อวกาศ เชื่อว่าสิ่งที่หลายๆ คนคิดขึ้นมาเป็นอย่างแรกๆ ก็คงจะไม่พ้นภาพของจรวดที่พุ่งขึ้นจากแท่นปล่อยโดยใช้เชื้อเพลิงจำนวนมหาศาลเป็นสิ่งแรกๆ
แต่แนวคิดนี้ก็อาจจะต้องถูกเปลี่ยนแปลงไปแล้วก็ได้ เมื่อไม่นานมานี้เอง “Spinlaunch” บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีอวกาศแห่งใหม่จากแคลิฟอร์เนีย ได้ออกมาประกาศว่า
พวกเขากำลังพัฒนาเทคโนโลยีปล่อยจรวดรูปแบบใหม่ อย่างการใช้พลังงานจลน์ “โยน” จรวดขึ้นสู่อวกาศตรงๆ อยู่ และมันก็อาจจะลดต้นทุนการปล่อยจรวด โดยเฉพาะในด้านเชื้อเพลิงลงถึงราวๆ 10 เท่าเลยด้วย
แนวคิดการปล่อยจรวดโดยใช้พลังงานจลน์นั้นพัฒนาขึ้นในช่วงปี 2015 โดยมีเป้าหมายในการส่งดาวเทียมด้วยหลักการใช้ข้อเหวี่ยงแม่เหล็กไฟฟ้าหมุนดาวเทียมในห้องปิดผนึกสุญญากาศทรงกลมด้วยความเร็วสูง
ก่อนที่จะขว้างขึ้นไปบนอวกาศ ผ่านช่องปล่อยที่มีความสูงราวๆ 50 เมตรอีกที
อ้างอิงจากการทดลองในเดือนตุลาคม แม้จะใช้พลังงานแค่ 20% ระบบปล่อยยานของ SpinLaunch นั้น ก็สามารถโยนยานต้นแบบขึ้นไปได้สูงหลายกิโลเมตร
แถมยังสามารถใช้งานซ้ำได้หลายภารกิจ และทำงานได้โดยใช้พลังงานไฟฟ้า 100% โดยไม่จำเป็นต้องใช้ การเผาไหม้ของเชื้อเพลิงที่อาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศเลยด้วย
ดังนั้น ในปัจจุบันระบบดังกล่าวจึงกำลังเป็นที่สนใจอย่างมากและระดมทุนได้มากกว่า 110 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราวๆ 3,700 ล้านบาท) ซึ่งรวมถึงทุนจาก Google Venture, Airbus Ventures และ Kleiner Perkins เลย
แต่แม้ระบบนี้จะดูน่าสนใจมากก็ตาม เราก็คงต้องระบุไว้ในที่นี้ด้วยว่าเทคโนโลยีของ SpinLaunch นั้น ในปัจจุบันยังคงถือว่ามีข้อกังขาค่อนข้างมากอยู่
เพราะไม่เพียงแต่การจะปล่อยจรวดเช่นนี้จำเป็นต้องมีระบบปิดผนึกสุญญากาศที่สมบูรณ์มากๆ เท่านั้น แต่การทดลองของพวกเขา ในปัจจุบันก็ยังไม่ได้แสดงให้เห็นว่าดาวเทียมจะสามารถขึ้นไปสู่วงโคจรได้จริงๆ ด้วย
ถึงอย่างนั้นก็ตามแนวคิดการใช้พลังงานจลน์ปล่อยดาวเทียมก็ถือเป็นเรื่องที่น่าจับตามองเอามากๆ และแม้ว่าอาจจะไม่ใช่โดยบริษัท SpinLaunch แต่ในอนาคตอันใกล้นี้ เราก็อาจจะได้เห็นการปล่อยดาวเทียมด้วยระบบนี้จริงๆ ก็เป็นได้
ที่มา odditycentral, extremetech, space