เชื่อว่าเหล่าวัยรุ่นในยุคหลายๆ คนคงจะเคยมีโอกาสได้รู้จักกับยางลบสีฟ้าๆ รูปร่างคล้ายล้อรถที่มาพร้อมแปรงปัดกันมาบ้าง เพราะนี่คือยางลบที่หลายๆ คนเรียกกันอย่างติดปากว่า “ยางลบปากกา”
ทั้งที่เวลาเอามาใช้จริงๆ บ่อยครั้งมันลบปากกาไม่ได้เลย กลับกันจะทำให้กระดาษขาดด้วยซ้ำ
แต่ทราบกันหรือไม่ว่าเหตุผลที่อุปกรณ์ชิ้นนี้มันทำงานไม่ได้ดั่งใจนั้น มันเป็นเพราะเจ้าสิ่งที่เราเรียกกันว่า “ยางลบปากกา” แท้จริงแล้วมันไม่ได้มีไว้ลบหมึกปากกาจริงๆ ตั้งแต่แรกแล้วต่างหาก
เพราะล่าสุดนี้เองเพจเฟซบุ๊ก วัยรุ่นยุค90 ก็เพิ่งจะออกมาเฉลยว่าเจ้าสิ่งที่เราเห็นนั้น แท้จริงแล้วมันก็คือยางลบดินสอนั่นล่ะ เพียงแต่มันถูกออกแบบมาเพื่อใช้งานบน “กระดาษอาร์ตหยาบ” ก็เท่านั้น
โดยนอกจากยางลบรูปล้อที่เห็นข้างตนแล้วบางครั้งยางลบปากกายังอาจจะออกมาในรูปแบบ “ยางลบสองสี” ที่มีด้านหนึ่งเป็นสีแดงและด้านหนึ่งเป็นสีน้ำเงินได้ด้วย
เรื่องราวที่ออกมานี้ต่อมาก็ทำให้มีชาวเน็ตจำนวนมากเข้าไปแสดงความเห็นต่อความจริงในข้อนี้ โดยส่วนใหญ่ก็ล้วนแต่จะยอมรับว่านี่คือความเข้าใจผิดในอดีตของตัวเองในอดีตจริงๆ
และพอมองกลับไปมันก็ทำให้สงสัยจริงๆ ว่า เราทนใช้มันจนกระดาษเป็นรูไปหมดได้อย่างไร
เป็นไปได้ว่าเหตุผลที่หลายๆ คนคิดว่ายางลบดังกล่าวลบหมึกปากกาได้จะมาจากสีของตัวยางลบเองซึ่งมักจะถูกออกแบบมาให้มีสีน้ำเงิน หรือไม่ก็เนื่องจากยางลบรูปแบบนี้ของ Faber-Castell มีการพิมพ์รูปปากกาไว้บนยางลบ (ดูได้จากภาพยางลบสองสีข้างบน)
แต่ไม่ว่าจะเพราะอะไร การใช้งานผิดๆ นี้ก็ทำให้ยางลบดังกล่าวกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้กระดาษสมุดของเด็กยุค 90 ทั้งหลาย ต้องมีรอยขาด จนยางลบดังกล่าวต้องกลายเป็นที่จดจำของหลายคนไปเลย
ข้อมูลจาก zapjeed ที่มา เพจเฟซบุ๊ก วัยรุ่นยุค90 และ kapook