สำหรับมนุษย์แล้ว “การออกกำลังกาย” ถือว่าเป็นหนึ่งในกิจกรรมที่มีความสำคัญต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะนี่คือหนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงในการเจ็บป่วยได้เป็นอย่างดี
แต่ถึงอย่างนั้น ด้วยข้อจำกัดทาง ทั้งความพิการ อาการบาดเจ็บ หรือโรคร้าย คนบางกลุ่มก็อาจจะไม่สามารถออกกำลังกายเพื่อดูแลร่างกายได้จริงๆ
ดังนั้นนี่จึงอาจจะเป็นข่าวดีสำหรับหลายๆ คนเลย เพราะล่าสุดนี้เอง นักวิทยาศาสตร์ได้ออกมาเปิดเผยว่า พวกเขาค้นพบ “อนุภาค” ในร่างกายมนุษย์ ที่อาจนำไปสู่ยาตัวใหม่ ที่ทำให้เรา “ออกกำลังกาย” ได้แม้ไม่ได้ออกแรงจริงๆ แล้ว!!
การค้นพบในครั้งนี้ เป็นผลงานของทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ซึ่งเดิมทีแล้วต้องการศึกษาผลกระทบของการออกกำลังกายต่อเรตินา และสายตาของมนุษย์
โดยในระหว่างการทดลองพวกเขาได้บังเอิญพบกับสัญญาณระดับโมเลกุลตัวหนึ่ง ซึ่งเดินทางผ่าน “อนุภาคไขมัน” (lipid particles) ไปยังระบบประสาทส่วนกลาง ทุกครั้งหลังจากที่คนออกกำลังกาย
และจากการตรวจสอบเพิ่มเติมพวกเขาก็พบว่าหากเราสามารถแยกอนุภาคที่ว่านี้ ออกมาปรับปรุงได้
เราก็อาจจะสามารถนำมันไปทำเป็นยาเม็ดแบบรับประทาน ซึ่งอาจจะทำให้เราได้ผลประโยชน์บางอย่างของการออกกำลังกาย โดยไม่ต้องออกแรงจริงๆ เลย
นี่ถือเป็นการค้นพบที่น่าสนใจมากเพราะการศึกษานี้ อาจนำไปสู่วิธีการรักษาและการบำบัดสำหรับผู้ป่วยจากโรคเกี่ยวกับระบบประสาท เช่น อัลไซเมอร์และพาร์กินสัน หรือแม้แต่ผู้มีอาการอัมพาตบางรูปแบบได้
และแม้ตัวยานี้อาจไม่ได้ดีพอถึงขั้นที่จะทำให้ผู้ใช้มีกล้ามได้ก็ตาม แต่มันก็คงมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยที่ควรจะมีการออกกำลังกายแต่ไม่สามารถออกกำลังกายเองได้เป็นอย่างมากเลย
ที่มา
www.sciencedaily.com/releases/2021/12/211201111956.htm
onlinelibrary.wiley.com/doi/10.1111/ceo.14023
futurism.com/neoscope/exercise-pill-particle
www.eurekalert.org/news-releases/936481