สำหรับคนธรรมดาทั่วไป “นาฬิกา” คงจะถือเป็นอุปกรณ์ที่แม้จะมีความสำคัญมาก แต่ก็คงเป็นสิ่งพื้นฐานที่ใครๆ ก็สามารถครอบครองได้ อย่างไรก็ตามสำหรับนักวิทยาศาสตร์ การมีนาฬิกาที่เที่ยงตรงมากๆ ก็ถือเป็นข้อได้เปรียบที่จะนำไปสู่ความรู้ใหม่ๆ ได้เลย
ดังนั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสัน จึงพยายามอย่างมากที่จะสร้างนาฬิกาอะตอมที่แม่นยำที่สุดเท่าที่จะทำได้ และล่าสุดนี้การทดลองกับมันก็ทำให้พวกเขาพบความจริงที่น่าสนใจหลายข้อเลย
อ้างอิงจากงานวิจัยที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2022
ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-แมดิสันได้พัฒนานาฬิกาอะตอมที่แม่นยำสุดๆ ถึงขนาดที่ว่าในเวลา 300,000 ล้านปี นาฬิกาของพวกเขาจะคลาดเคลื่อนเพียงแค่ 1 วินาทีเท่านั้น
แถมยังเป็นครั้งแรกที่นาฬิกาเช่นนี้สามารถทำกระบวนการ “Multiplexed” ซึ่งทำให้มีนาฬิกาหกเรือนสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมเดียวกันได้ด้วย
โดยตั้งแต่สร้างนาฬิกาขึ้นมา ทีมวิจัยก็ระบุว่าพวกเขาได้เริ่มทำการทดลองกับนาฬิกานี้ไปหลายอย่างไม่น้อย
หนึ่งในการทดลองที่น่าสนใจคือการค้นพบว่าเวลาจะเดินช้าลงเล็กน้อย หากระดับความสูงจากพื้นผิวโลกเพิ่มขึ้นแม้เพียง 0.2 มิลลิเมตร
ซึ่งถือเป็นหลักฐานอย่างดีอีกชิ้นที่ช่วยยืนยันว่า ทฤษฎีของ Albert Einstein ซึ่งคาดว่าวัตถุขนาดใหญ่ เช่นโลกของเราจะสามารถทำให้ “กระแสเวลาบิดเบี้ยว” ได้นั่นเอง
และแม้การทดลองที่กล่าวมาข้างต้นจะไม่ใช่การทดลองใหม่อะไรก็ตาม แต่ด้วยประสิทธิภาพนาฬิกาตัวใหม่นี้นักวิทยาศาสตร์ก็คาดว่า ในอนาคตผลงานของพวกเขาจะสามารถถูกนำไปใช้งานในการทดลองที่หลากหลายไม่ใช่น้อย
ซึ่งหนึ่งในการทดลองเหล่านั้น ก็อาจรวมไปถึงการค้นหาคลื่นความโน้มถ่วง หรือแม้แต่ตรวจจับสสารมืด ซึ่งอาจเปิดทางสู่ความรู้ใหม่ๆ แห่งวงการฟิสิกส์เลยด้วย
ที่มา
www.nature.com/articles/s41586-021-04344-y
news.wisc.edu/ultraprecise-atomic-clock-poised-for-new-physics-discoveries/
www.livescience.com/atomic-clock-confirms-einstein-predictions-about-time
scitechdaily.com/ultraprecise-atomic-clock-poised-for-new-physics-discoveries-loses-just-one-second-every-300-billion-years/