เมื่อเราพูดถึงหุ่นยนต์ หลายๆ คนก็คงจะนึกถึงอุปกรณ์แข็งๆ ทำจากโลหะแต่เคลื่อนไหวได้เป็นอย่างแรก ถึงอย่างนั้นก็ตาม เช่นเดียวกับหุ่น T-1000 ในคนเหล็ก จริงๆ แล้วหุ่นยนต์ก็อาจจะมาในสภาพสไลม์กึ่งของเหลวได้เช่นกัน
อย่างเมื่อล่าสุดนี้เอง ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง ก็เพิ่งจะออกมาเปิดตัวผลงาน “หุ่นยนต์สไลม์แม่เหล็ก” รูปแบบใหม่
ที่จะสามารถเดินทางผ่านช่องแคบได้ ก่อนจะคว้าสิ่งของแปลกปลอมที่เป็นเป้าหมาย และนำมันออกจากพื้นที่ได้แบบสบายๆ
อ้างอิงจากคุณ Li Zhang ผู้ร่วมสร้างหุ่นยนต์สไลม์ตัวนี้ ดูเหมือนว่าเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้จะสามารถเคลื่อนที่ได้โดยการอาศัยอนุภาคแม่เหล็กเป็นหลัก โดยมันจะสามารถขยับตัว หมุน เปลี่ยนรูปร่าง หรือแม้แต่ ไหลคลุมวัตถุขนาดเล็กได้โดยใช้แม่เหล็กภายนอกควบคุมมัน
(ชมวิดีโอการทำงานของหุ่นยนต์สไลม์ได้ที่: youtu.be/gUfsFVPVa08)
แน่นอนว่าคุณสมบัติเช่นนี้หุ่นยนต์สไลม์ตัวนี้จึงมีความเหมาะสมอย่างมากที่จะใช้ นำสิ่งแปลกปลอมออกจากระบบย่อยอาหารของคน เช่นหลอดอาหาร หรือกระเพาะ
มันจึงถือเป็นเรื่องน่าเสียดายไม่น้อยที่ในปัจจุบันสไลม์จะยังไม่สามารถทำงานด้วยตนเองได้ แถมอนุภาคแม่เหล็กในหุ่นยนต์สไลม์ยังเป็นพิษด้วย ทำให้นักวิทยาศาสตร์ยังคงต้องหาวิธีแก้ปัญหานี้อยู่
ซึ่งในปัจจุบันพวกเขาได้ทดลองเคลือบหุ่นยนต์สไลม์ตัวนี้ด้วยซิลิกาที่เป็นส่วนประกอบหลักในทรายดู และในอนาคตพวกเขาก็มีแผนจะทำให้สไลม์ดังกล่าวทำงานด้วยตนเองได้ และมีสีอื่นๆ นอกจากสีดำต่อไปด้วย
“เป้าหมายสูงสุดคือการปรับใช้มันเหมือนหุ่นยนต์อัตโนมัติจริงๆ ” คุณ Li Zhang กล่าว
และหากทุกอย่างเป็นไปได้ด้วยดี มันก็ไม่แน่เหมือนกันว่าในอนาคตการใช้หุ่นยนต์เพื่อการรักษาก็อาจจะกลายเป็นอะไรที่แพร่หลายไม่ใช่น้อยเลยก็ได้
ที่มา
interestingengineering.com/slimy-turd-like-magnetic-robot
www.newscientist.com/article/2314395-robot-made-of-magnetic-slime-could-grab-objects-inside-your-body/
www.theguardian.com/science/2022/apr/01/magnetic-turd-scientists-invent-moving-slime-that-could-be-used-in-human-digestive-systems