ย้อนกลับไปในอดีตเมื่อช่วงปี 1977 ยานสำรวจอวกาศ “Voyager 1” ได้ถูกปล่อยขึ้นจากโลกภายใต้ภารกิจอย่างการสำรวจดาวเคราะห์ชั้นนอก และกลายเป็นวัตถุชิ้นแรกของมนุษย์ ที่สามารถหลุดออกไปนอกระบบสุริยะ
แต่แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 40 ปีแล้วก็ตาม ดูเหมือนว่ายาน Voyager 1 ก็จะคงมีเรื่องให้นักวิทยาศาสตร์ต้องแปลกใจได้อยู่ดี เพราะเมื่อล่าสุดมานี้ในวารสาร Nature Astronomy
นักวิทยาศาสตร์ก็เพิ่งจะออกมากล่าวถึงการค้นพบ “เสียงฮัม” ลึกลับในห้วงอวกาศของยาน Voyager 1 ซึ่งเรายังไม่อาจบอกได้เลยว่ามันมาจากอะไร
อ้างอิงจากรายงานที่ออกมา จริงๆ แล้วยาน Voyager 1 ได้ค้นพบเสียงแปลกๆ ในอวกาศตั้งแต่ปี 2012
โดยแม้จะบอกว่าเป็น “เสียง” ก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้วมันคือระลอกคลื่นของพลาสมาที่ทำปฏิกิริยาในตัวกลางระหว่างดวงดาว (interstellar medium) จนเกิดเป็นการสั่นสะเทือนความถี่แคบต่างหาก
และตั้งแต่ที่ตัวยานออกจากระบบสุริยะไป ยาน Voyager 1 ได้พบ การสั่นสะเทือนที่ว่านี้ มาแล้วราวๆ 8 ครั้ง โดยตามปกติมันจะเกิดจากอิเล็กตรอนซึ่งทำปฏิสัมพันธ์กับคลื่นกระแทกจากดวงอาทิตย์ของเราเอง
อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ทำให้การค้นพบครั้งใหม่นี้แปลก คือในปี 2017 ตัวยานกลับพบระลอกคลื่นของพลาสมาแบบปริศนาซึ่งเบากว่าที่เกิดจากดวงอาทิตย์ตามปกติมาก ด้วยความถี่แค่ราวๆ 3 กิโลเฮิร์ต
แต่มันกลับเกิดขึ้นแบบมีความคงที่สูง ราวกับเป็น “เสียงฮัม” และที่สำคัญ มันเกิดขึ้นแบบต่อเนื่องเป็นเวลานานมาร่วม 3 ปี ซึ่งทำให้เมันกลายเป็น ระลอกคลื่นของพลาสมาที่กินเวลานานที่สุด เท่าที่ยาน Voyager 1 เคยพบมาเลย
ตัวอย่างเสียงจากระลอกคลื่นของพลาสมาที่ Voyager 1 เคยพบ
น่าเสียดายที่เสียงจากปี 2017 ดูเหมือนจะยังไม่ได้รับการเผยแพร่ออกมา
น่าเสียดายที่จนแล้วจนรอดนักวิทยาศาสตร์ก็ยังไม่สามารถบอกได้เลยว่าเจ้าเสียงฮัมประหลาดที่ว่านี้มาจากไหน ทำไมมันถึงเกิดขึ้นยาวนานนัก และทำไมมันถึงเพิ่งมาเกิดในปี 2017
อย่างไรก็ตามพวกเขาเชื่อว่าเสียงดังกล่าวนี้ อาจไม่ได้มากมายดวงอาทิตย์ของเราเอง เหมือนกับเสียงอื่นๆ
เพราะตลอดช่วง 3 ปี ที่ได้มีการพบเสียงประหลาดยาน Voyager 1 ได้เคลื่อนที่ไปกว่าพันล้านกิโลเมตร แต่ถึงอย่างนั้นเสียงฮัมเบาๆ ที่มันพบ กลับไม่ได้เปลี่ยนไปเลย ไม่ว่าเวลานั้นดวงอาทิตย์จะมีการปล่อยพลังงานออกมาหรือไม่ก็ตาม
ด้วยเหตุนี้เองนักวิทยาศาสตร์จึงเชื่อว่าการตรวจสอบเสียงฮัมที่พวกเขาพบอย่างละเอียดอาจจะช่วยให้พวกเขาไขความลับของปฏิสัมพันธ์ระหว่างลมสุริยะและตัวกลางระหว่างดวงดาวก็เป็นได้
ถึงอย่างนั้นก็ตามนี่ก็ถือเป็นการเรียนรู้ที่เราต้องแข่งกับเวลาพอใช่เล่นเลย นั่นเพราะระบบหลังงานของยาน Voyager 1 นั้น เชื่อกันว่าอาจจะไม่เพียงพอต่อการทำงานของระบบอีกต่อไปภายในปี 2025 ที่จะถึงนี้
และเมื่อเวลานั้นมาถึงยาน Voyager 1 ก็จะต้องจากเราไปอย่างเงียบๆ ในห้วงอวกาศอันกว้างใหญ่ที่ยังไม่เคยมีใครเดินทางไปถึง แบบที่อาจจะไม่มีวันหวนคืนเลย
ที่มา livescience, earthsky, nbcnews และ nature