นับตั้งแต่การมาของ iPhone เมื่อช่วงกลางปี 2007 เทคโนโลยี “ทัชสกรีน” ก็กลายเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย และถูกพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด
แต่ถึงอย่างนั้นก็ตาม แม้แต่ทัชสกรีนที่เราใช้กันในปัจจุบัน มันก็ยังคงมีความล่าช้าเล็กน้อยระหว่างที่คนแตะหน้าจอกับการตอบสนองของอุปกรณ์อยู่ และนักวิจัยก็พยายามกันเรื่อยมาที่จะลดความเหลื่อมล้ำนี้ให้มากที่สุด
อย่างล่าสุดนี้เองนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอนก็เพิ่งออกมาเปิดตัววิธีลดความเหลื่อมล้ำของทัชสกรีนลงไปอีกขั้นแล้ว และมันได้ง่ายๆ แค่ด้วยการ “ติดฟิล์มแบบพิเศษ” บนกระจกโทรศัพท์ด้วย
เจ้าฟิล์มตัวใหม่นี้มีชื่อว่า TriboTouch โดยมันเป็นฟิล์มที่ถูกออกแบบมาให้มีตุ่มเล็กๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่าและแทบจะไม่สามารถสัมผัสถึงได้
เวลานิ้วเคลื่อนผ่านตุ่มเหล่านี้ มันจะทำให้เกิดการสั่นสะเทือนทางเสียงที่ละเอียดอ่อน ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถรับรู้ แต่ก็ตรวจจับได้ด้วยไมโครโฟนของมือถือ
ก่อนที่นักวิทยาศาสตร์จะใช้โปรแกรมแมชชีนเลิร์นนิงคำนวณเสียงที่ว่า เพื่อช่วยบอกความเร็วและทิศทางของนิ้วบนหน้าจออีกที
โดยในการทดลองเบื้องต้นทีมงานได้พบว่าระบบของพวกเขาจะสามารถลดความเหลื่อมล้ำของทัชสกรีนจาก 80 มิลลิวินาที (ซึ่งเป็นระดับความเหลื่อมล้ำของสมาร์ทโฟนส่วนใหญ่) ลงเหลือแค่ 16 มิลลิวินาทีเท่านั้น
(ชมวิดีโอการทำงานของ TriboTouch ได้ที่: youtu.be/V2KF1rT5l4w)
นี่นับว่าเป็นการพัฒนาที่น่าสนใจอย่างมาก เพราะแม้ความแตกต่างนี้จะดูน้อยแต่มันก็ส่งผลอย่างมากต่องานที่ต้องใช้ความละเอียดสูงอย่างการวาดภาพเลย
และด้วยความที่ระบบนี้สามารถทำงานได้ง่ายๆ แค่การติดฟิล์ม (และอาจจะลงโปรแกรมนิดๆ หน่อยๆ) มันก็ไม่แน่เหมือนกันว่า อีกไม่นานเราก็อาจจะได้เห็นฟิล์ม TriboTouch ถูกวางขายกันทั่วไปเลยก็ได้นะ
ที่มา
www.figlab.com/research/2022/tribotouch
drive.google.com/file/d/1FefcMKvktPQXHOP8Thl-0yP7-gTNDH30/view
gizmodo.com/bump-covered-screen-protector-can-reduce-touchscreen-la-1848853832