เมื่อเรากล่าวถึง “แบตเตอรี่” เชื่อว่าสิ่งที่หลายๆ คนจะนึกขึ้นมาเป็นอย่างแรกๆ ก็คงไม่พ้นแบตลิเธียมไอออนซึ่งมักใช้งานในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สารพัดรูปแบบในปัจจุบัน
แต่ล่าสุดนี้เองทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ก็เพิ่งจะประสบความสำเร็จในการสร้างแบตเตอรี่แบบใหม่ ที่ใช้พืชอย่าง “สาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน” เป็นแกนหลักแล้ว
และมันก็สามารถให้พลังงานคอมพิวเตอร์โพรเซสเซอร์ในการทดลองได้นานร่วมครึ่งปีแล้ว ทั้งๆ ที่มีขนาดแค่พอๆ กับถ่าน AA และทำได้ง่ายเนื่องจากวัสดุราคาไม่แพง
แบตเตอรี่ตัวใหม่นี้ถูกระบุว่าทำจากสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินสายพันธุ์ที่ไม่มีพิษ โดยระบบจะอาศัยการสังเคราะห์แสงของสาหร่ายที่ทำให้เกิดการสร้างกระแสไฟฟ้าขนาดเล็ก เพื่อจ่ายพลังงานให้กับไมโครโพรเซสเซอร์
ซึ่งในการทดลองมันสามารถให้พลังงานคอมพิวเตอร์โปรโพรเซสเซอร์ที่ทำงานวันล่ะ 45 นาที (กับอีก 15 นาทีในโหมดสแตนด์บาย) ซึ่งใช้พลังงานราวๆ 0.3 ไมโครวัตต์ ได้ยาวนานถึง 6 เดือน และยังคงทำงานต่อไปได้เรื่อยๆ แม้การทดลองจบลงแล้วด้วย
“เรารู้สึกประทับใจกับความต่อเนื่องของระบบที่ทำงานเป็นเวลานานอันนี้มาก …เราคิดว่ามันอาจจะหยุดลงหลังจากผ่านไปสองสามสัปดาห์ แต่มันกลับทำงานต่อไปเรื่อยๆ”
คุณ Paolo Bombelli จากภาควิชาชีวเคมีมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ หนึ่งในทีมวิจัยกล่าว
ที่น่าสนใจคือในการทดลองครั้งนี้ แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ดูจะไม่เข้าใจ 100% นักว่าสิ่งที่พวกเขาสร้างขึ้นมามันทำงานอย่างไรกันแน่
เพราะแบตเตอรี่ที่น่าจะทำงานด้วยการสังเคราะห์แสงตัวนี้ ไม่ได้รับผลกระทบจากการขาดแสงเลย มันสามารถให้พลังงานที่คงที่ทั้งกลางวันและกลางคืน ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ทำได้เพียงคาดว่าอาจเป็นเพราะสาหร่ายดังกล่าวแปรรูปอาหารบางส่วนได้แม้ไม่มีแสงเท่านั้น
แต่แม้การทำงานของมันจะยังไม่ชัดเจนนัก แบตเตอรี่จากสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงินก็ถือว่าเป็นอีกผลงานที่น่าจับตามองเอามากๆ
และหากโชคดีมันก็อาจถูกพัฒนา จนสามารถนำไปใช้จ่ายพลังงานให้กับอุปกรณ์ขนาดเล็ก โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกล ต่อไปในอนาคตเลย
ที่มา
www.cam.ac.uk/research/news/scientists-create-reliable-biological-photovoltaic-cell-using-algae
www.iflscience.com/technology/a-computer-powered-by-an-algae-battery-ran-for-a-whopping-six-months/
pubs.rsc.org/en/content/articlelanding/2022/EE/D2EE00233G