ในขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ยังคงทำลายสุขภาพของผู้คนทั่วโลกเช่นนี้ มันไม่ใช่เรื่องแปลกเลยที่ ในหลายๆ ประเทศจะเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนอุปกรณ์ช่วยหายใจจนผู้ป่วยต้องตกอยู่ในอันตราย
แต่เรื่องราวแบบนี้ก็อาจจะมีวิธีแก้ไขที่ได้ผลในอนาคตอันใกล้นี้แล้วก็เป็นได้ แม้วิธีการดังกล่าวอาจจะฟังดูแปลกๆ อยู่บ้างก็ตาม
นั่นเพราะเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม ที่ผ่านมา ในวารสาร Med ทีมนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยหลายแห่งในญี่ปุ่นก็เพิ่งจะจับมือกันออกมาเปิดเผยความเป็นไปได้ใหม่ที่ว่า
สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้น จริงๆ แล้วอาจสามารถหายใจโดยใช้ลำไส้ได้ ซึ่งมีประโยชน์มากในกรณีที่ระบบหายใจตามปกติล้มเหลวแบบในกรณีที่เราต้องเผชิญในปัจจุบัน
งานวิจัยชิ้นใหม่นี้ได้แรงบันดาลใจมาจากสัตว์น้ำเช่นปลิงทะเล และปลาโลช ซึ่งสามารถออกซิเจนได้ทั้งทางเหงือกตามปกติและผ่านลำไส้ทางลำไส้
ดังนั้นทีมงานจึงได้ทดลองเอาเมือกบางๆ ในลำไส้ของหนูออกเพื่อให้มัน สามารถแพร่กระจายออกซิเจนผ่านเซลล์เยื่อบุผิวได้ ก่อนที่จะนำหนูไปอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนต่ำ
แน่นอนว่าหนูทดลองกลุ่มแรกนั้น ตายไปทันทีในเวลาแค่ 11 นาที ซึ่งก็ถือว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไรนัก อย่างไรก็ตามนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบความจริงข้อใหม่ที่น่าทึ่งว่า
หากพวกเขาให้ออกซิเจนเข้าสู่ลำไส้ของหนูผ่านทางทวารโดยตรง 3 ใน 4 ของหนูจะสามารถให้ชีวิตในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนต่ำได้นานถึง 50 นาที!!
นี่นับว่าเป็นการค้นพบที่น่าสนใจมาก แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ยังมีข้อจำกัดอยู่ เพราะการที่เราต้องเอาเมือกบางๆ ในลำไส้ของหนูออกนั้น เป็นสิ่งที่ทำได้ยากในคน
และหากไม่เอาเมือกนี้ออก หนูที่ถูกให้ออกซิเจนผ่านทางทวารก็จะมีชีวิตได้แค่ราวๆ 18 นาทีเท่านั้น ไม่ต่างกับตามปกตินัก
ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงลองเปลี่ยนวิธีการ โดยเอาออกซิเจนในรูปของเหลวที่เรียกว่า “คอนจูเกตเพอร์ฟลูออโรคาร์บอน” ซึ่งในปัจจุบันใช้ในวงการแพทย์อยู่แล้วมาฉีดใส่ทวารหนูแทนดูและพบว่า
แม้จะไม่เอาเมือกในทวารออกแต่หนูที่ถูกฉีดคอนจูเกตเพอร์ฟลูออโรคาร์บอนใส่ทวาร จะสามารถวิ่งในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนต่ำ (แต่ไม่ถึงขั้นตายแบบการทดลองแรก) ได้นานกว่าหนูทั่วไปมาก
แถมนักวิทยาศาสตร์ยังสามารถพบปริมาณออกซิเจนที่เข้าถึงหัวใจของสัตว์มากกว่าปกติด้วย
เมื่อเห็นแบบนั้นทีมวิจัยจริงลองนำการทดลองแบบเดียวกันไปทำในหมูบ้าง ซึ่งผลที่ออกมาคือหมูนั้น จะผิวซีดและตัวเย็นลง “น้อยกว่า” หมูที่ไม่ได้รับการฉีดคอนจูเกตเพอร์ฟลูออโรคาร์บอนใส่ทวารมาก ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จมากๆ
ซึ่งนั่นหมายความว่าระบบนี้เอง ก็อาจจะสามารถใช้การได้แม้ในมนุษย์เลย
“ระดับของการให้ออกซิเจนทางหลอดเลือดที่ระบบนี้ทำได้ หากเราปรับปริมาณของออกซิเจนให้เหมาะสมกับการใช้งานของมนุษย์
มันก็น่าจะเพียงพอที่จะรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหายใจล้มเหลวอย่างรุนแรง ด้วยการให้ออกซิเจนช่วยชีวิตได้เลย”
นายทาคาโนริ ทาเคเบะ หนึ่งในนักเขียนของงานวิจัยกล่าว
เรียกได้ว่า แม้งานวิจัยในครั้งนี้ จะยังต้องผ่านการทดลองอีกมาก แต่ไม่แน่เหมือนกันว่าในอนาคตอันใกล้นี้ เราอาจจะได้เห็นการให้ออกซิเจนทางทวาร กลายเป็นหนึ่งในการรักษาที่ช่วยชีวิตผู้คนเอาไว้ อีกหลายต่อหลายคนเลยก็ได้
ที่มา iflscience และ cell