เมื่อเรากล่าวถึงลักษณะเฉพาะของหุ่นยนต์ที่เห็นบ่อยๆ คำจำกัดความแรกๆ ที่หลายคนอาจจะนึกถึงก็คงจะเป็นสิ่งที่ “ไร้ความรู้สึก” และ “ไม่รู้จักความเจ็บปวด”
แต่แนวคิดนี้ก็อาจจะไม่เป็นจริงเสมอไปแล้วก็ได้ เพราะล่าสุดนี้เองนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ก็อาจจะค้นพบวิธีที่จะทำให้หุ่นยนต์เข้าใจถึงความรู้สึก และความเจ็บปวดแล้วก็ได้
นั่นเพราะพวกเขากำลังอยู่ในขั้นตอนการทดลองสร้างสิ่งที่เรียกกว่า Electronic-skin (E-skin) อยู่
มันเป็นเทคโนโลยีเซนเซอร์ ที่สามารถทำหน้าที่เป็นเสมือนอวัยวะรับความรู้สึก ที่จะส่งข้อมูล “ความรู้สึก” ซึ่งรวมถึง “การสัมผัส” และ “ความเจ็บปวด” สำหรับหุ่นยนต์อีกที
นักวิจัยได้รับแรงบันดาลใจของเทคโนโลยีนี้มาจากระบบประสาทส่วนปลายของมนุษย์ ที่จะประมวลผลความรู้สึกจากจุดที่สัมผัส และส่งเฉพาะสิ่งที่สำคัญจริงๆ ไปถึงสมองเท่านั้น
โดย E-skin จะอาศัยตัวส่งข้อมูลจำนวน 168 ตัว ซึ่งกระจายไปทั่วพื้นผิวที่ยืดหยุ่นของหุ่นยนต์ เป็นกุญแจสำคัญในการประมวลผลข้อมูล และส่งเพียงข้อมูลสำคัญๆ ไปยังโพรเซสเซอร์กลาง เพื่อลดภาระของหุ่นยนต์อีกที
วิดีโอการทดลอง E-skin
แน่นอนว่าการทำให้หุ่นยนต์รู้สึกเจ็บได้อาจจะนำมาซึ่งคำถามทางจริยธรรมหลายข้อ แต่นักวิทยาศาสตร์ก็มองว่าเช่นเดียวกับมนุษย์ การที่หุ่นยนต์รู้สึกเจ็บได้จะมีประโยชน์กับมันมากกว่า
นั่นเพราะพวกมันจะสามารถเรียนรู้ที่จะตีความสภาพแวดล้อม และหลีกเลี่ยงอันตรายที่อาจนำมาซึ่งความเสียหายแก่ตัวหุ่นยนต์ได้
เท่านั้นยังไม่พอหากการทดลองนี้เป็นไปได้ด้วยดี ระบบอย่าง E-skin ยังอาจสามารถนำไปประยุกต์ใช้งานกับอุปกรณ์อย่างแขนขาเทียมของมนุษย์อีกด้วย
เรียกได้ว่าเป็นอีกเทคโนโลยีที่น่าจับตามองเอามากๆ ก็คงไม่ใช่เรื่องที่เกินจริงนักเลย
ที่มา
www.iflscience.com/technology/sensitive-robots-on-the-horizon-as-eskin-makes-them-capable-of-feeling-pain/
www.gla.ac.uk/news/headline_852760_en.html
www.science.org/doi/10.1126/scirobotics.abl7286