เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2564 ในการประชุมวุฒิสภา ช่วงปรึกษาหารือ นายเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ศิลปินแห่งชาติ ในฐานะสมาชิกวุฒิสภา กล่าวตอนหนึ่งถึงปัญหาวิกฤติภาษาไทย ระบุว่าเวลานี้ เราใช้ศัพท์สแลงทางภาษามากจนลืมคิดว่ายังมีบางคนไม่เข้าใจ หรือรู้ก็เข้าใจไม่ตรงกัน
ยกตัวอย่างคำทับศัพท์เช่น คลัสเตอร์ , ควอรันทีน , โซเชียลดิสแทนซิ่ง , สวอป, ซุปเปอร์สเปรดเดอร์
“ผมว่าเราใช้คำเหล่านี้จนคิดว่า คนทั่วไปรู้ แต่เชื่อไหมครับว่า บางคนไม่รู้ หรือรู้ก็ไม่เข้าใจ หรือเข้าใจก็เข้าใจไม่ตรงกัน นี่เป็นปัญหา เป็นวิกฤติ ทำอย่างไรเราจะแปรวิกฤติเป็นโอกาสได้ ผู้ที่ใช้ภาษาเหล่านี้ น่าจะขยายความให้คนทั่วไปได้รับรู้ทั่วไปได้ด้วย
เรื่องนี้เป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะว่าภาษาเป็นเครื่องมือของความคิด เราคิดด้วยภาษา ไม่ใช้ภาษาเราคิดไม่ได้ คนไทยคิดเป็นภาษาไทย ฝรั่งคิดเป็นภาษาของเขา เรายังฝันเป็นภาษาไทยเลย ดังนั้นภาษาเป็นเรื่องสำคัญ”
นายเนาวรัตน์ กล่าวว่า เวลานี้ เมื่อออกไปในที่ที่เจริญ จะเต็มไปด้วยภาษาต่างชาติ ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาญี่ปุ่น ส่วนภาษาไทยไม่ค่อยมีหรือหายไป คำไทยหายต้องใช้ภาษาอังกฤษมาช่วยประดิษฐประดอย ทำให้รู้สึกถึงความเจริญ ความรุ่งเรือง เป็นความจริงเพราะเราใจกว้าง สามารถรู้ภาษาได้มาก แต่ลืมนึกว่ามันทำให้คำไทยหายไป
ตนจึงอยากให้กระทรวงวัฒนธรรม ช่วยไปดูป้ายห้างร้านต่าง ๆ เพื่อกำกับชื่อภาษาไทยลงไปควบคู่กัน เพื่อให้รู้ว่าที่นี่เป็นเมืองไทย ไม่อย่างนั้นจะลืมภาษาที่เป็นจิตวิญญาณของไทยไปเสียหมด
และอยากเรียกร้องให้ราชบัณฑิตช่วยบัญญัติศัพท์ให้คนทั่วไปได้รู้ด้วย เพราะไม่เช่นนั้น บ้านเมืองก็จะมีรูปแบบที่หรูหราแต่เนื้อหารุ่งริ่ง ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา
“ความสำคัญของภาษา ไม่ใช่ว่าผมจะล้าหลังคลั่งชาติ แต่ภาษาเป็นรากฐานส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมทางความคิด ขณะเดียวกันวรรณกรรมก็เป็นพื้นฐานส่วนหนึ่งของอารยธรรมทางปัญญา”