จากประเด็นที่มีการเปิดเผยเอกสารบันทึกการประชุมเฉพาะกิจเกี่ยวกับวัคซีน Pfizer ของกรมควบคุมโรค เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564
สังคมกำลังให้ความสนใจกับความเห็นที่ถูกระบุเอาไว้ภายในเอกสารโดยเฉพาะความเห็นข้อที่ 10 ที่ระบุว่า “ในขณะนี้ถ้าเอามาฉีด (Pfizer) กลุ่ม 3 แสดงว่าเรายอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลในการป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น”
เกี่ยวกับเรื่องนี้ในโลกออนไลน์ภายใต้ #ฉีดPfizerให้บุคลากรการแพทย์ ชาวเน็ตเองได้เรียกร้องให้มีการใส่ใจกับบุคลากรทางการแพทย์มากกว่านี้เนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงที่สุด
หากไม่มีภูมิคุ้มกันจะส่งผลทำให้ระบบสาธารณสุขล่ม ถ้าหากนำไปฉีดให้กับแพทย์กลุ่มเสี่ยงก่อนคงไม่มีใครค้าน แต่ในชีวิตจริงกลับมาการนำการเมืองเข้ามามีอำนาจเหนือกว่าชีวิตคน
เช่นเดียวกับบุคลากรทางการแพทย์บางส่วนที่รู้สึกไม่พอใจกับความคิดเห็นในมติที่ประชุมในเอกสารดังกล่าว เนื่องจากวัคซีนที่มีอยู่นั้นมีอยู่ไม่เพียงพอและไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด-19 มากนัก
และเล็งเห็นว่าควรนำวัคซีนยี่ห้ออื่นเข้ามาเพื่อยกระดับการป้องกันโรคให้ดียิ่งขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วจะมีผู้คนติดเชื้ออีกจำนวนมากแบบไม่รู้จบจนระบบสาธารณสุขไม่สามารถรับมือได้ไหว
ศ. ดร. นพ.มานพ พิทักษ์ภากร หัวหน้าศูนย์วิจัยการแพทย์แม่นยำ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ทวีตข้อความเกี่ยวกับประเด็นนี้
เห็นรายงานการประชุมกรรมการวิชาการวัคซีนแล้วโกรธมาก
คัดค้านการฉีด Pfizer vaccine กระตุ้นเข็มสามให้บุคลากรทางแพทย์ด้วยเหตุผลคือเป็นการยอมรับว่า Sinovac ไม่มีผลป้องกัน แล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น
คนพูดเป็นหมอหรือเปล่าครับ คุณทำงานด่านหน้าไหม จิตใจคุณทำด้วยอะไร 😔
— manopsi (@manopsi) July 4, 2021
“เห็นรายงานการประชุมกรรมการวิชาการวัคซีนแล้วโกรธมาก คัดค้านการฉีดไฟเซอร์เข็ม 3 ให้บุคลากรทางแพทย์ด้วยเหตุผลคือเป็นการยอมรับว่าซิโนแวคไม่มีผลป้องกันแล้วจะแก้ตัวยากมากขึ้น
คนพูดเป็นหมอหรือเปล่า คุณทำงานด่านหน้าไหม จิตใจคุณทำด้วยอะไร”
ข้อความจากรายงานการประชุมกรรมการ และการนำเอกสารชิ้นนี้หลุดมาถึงสื่อ คาดว่า …
1. Comment 8 และ 10 น่าจะมาจากกรรมการที่ powerful มาก เพราะมี comment อื่นสนับสนุนแต่มติเป็นไปทาง 2 comments นี้
2. กรรมการที่ไม่เห็นด้วยคงทนไม่ได้ ยอมเสี่ยงปล่อยเอกสารนี้หลุดมายังสื่อ ขอบคุณมาก ๆ ครับ— manopsi (@manopsi) July 4, 2021
“ข้อความจากรายงานการประชุมกรรมการ และการนำเอกสารชิ้นนี้หลุดมาถึงสื่อ คาดว่าคอมเมนต์ 8 และ 10 น่าจะมาจากกรรมการที่มีอำนาจมาก
เพราะมีคอมเมนต์อื่นสนับสนุนแต่มติเป็นไปทาง 2 คอมเมนต์นี้ แต่เชื่อว่ากรรมการที่ไม่เห็นด้วยคงทนไม่ได้ ยอมเสี่ยงปล่อยเอกสารนี้หลุดมายังสื่อ ขอบคุณมาก ๆ ครับ”
นพ.อำนาจ กุสลานันท์ กรรมการแพทยสภา อดีตนายกแพทยสภา โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กถึงนายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.
“เรียน นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.
ตามที่ประเทศไทยจะได้รับวัคซีนไฟเซอร์จำนวน 1.5 ล้านโดสในเดือนกค.-สค. 64 มานั้น ผมทราบมาว่ามติที่ประชุมของคณะกรรมการที่พิจารณาเรื่องนี้
เมื่อวันที่ 30 มิย.64 ได้มีผู้เสนอให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ได้วัคซีนซิโนแวคสองเข็มไปแล้วระยะหนึ่งได้รับวัคซีนนี้ แต่ต่อมาที่ประชุมมีมติไม่ให้วัคซีนดังกล่าวแก่บุคลากรทางการแพทย์
ผมมีความเห็นว่าแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า เป็นผู้ที่มีความเสี่ยงสูงสุดที่จะได้รับเชื้อรวมทั้งเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญสูงมากในขณะนี้ที่มีภาระหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยทั้งหมด
ถ้าหากกำลังคนที่สำคัญในภาวะวิกฤตินี้ติดเชื้อจะซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายยิ่งขึ้นไปอีก
เพราะการที่คนใดคนหนึ่งในกลุ่มบุคลากรที่กำลังทำหน้าที่เพื่อชดเชยอัตรากำลังคนที่ขาดแคลนอย่างที่สุดในตอนนี้ติดเชื้อจะทำให้มีบุคลากรที่เกี่ยวข้องต้องถูกกักตัวเนื่องจากเป็นผู้ความเสี่ยงสูงอีกจำนวนมาก
ดังที่ได้มีการประกาศปิดห้องฉุกเฉิน ห้องผ่าตัด ห้องคลอด หรือทั้งโรงพยาบาลมาเป็นระยะ ๆทำให้ผู้ป่วยและประชาชน มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอีกทั้งจากโควิดและภาวะฉุกเฉินอื่นๆ
ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อในบุคลกรกลุ่มนี้จึงมีความสำคัญสูงสุดและจำเป็นเร่งด่วนเพื่อประคองให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้ฉีดวัคซีนดังกล่าวแก่แพทย์และบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าที่ดูแลผู้ป่วยด้วยครับ
ศ.คลินิกเกียรติคุณนพ.อำนาจ กุสลานันท์
กรรมการแพทยสภา
อดีตนายกแพทยสภา”
นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา
“”ขอสนับสนุนให้วัคซีนเข็ม 3 กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า”
ตามที่มีการประชุมเรื่องการพิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ ที่จะได้รับ 1.5 ล้านโดส ในเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้ ในกลุ่มบุคคลใดบ้าง #โดยมีผู้เสนอให้บุคลากรทางการแพทย์ด้านหน้า ที่ได้รับ วัคซีนซิโนแวค 2 เข็มไปแล้ว ควรได้รับเพิ่ม ในการประชุม คณะกรรมการด้านวิชาการวัคซีน กรมควบคุมโรค ที่ผ่านมานั้น
ด้วยบุคลากรทางการแพทย์ ในด่านหน้าเสมือนเป็นทหารอาสาสู้ศึก covid-19 ที่ต้องเสียสละตนเอง โดยมีโอกาสได้รับเชื้อจากผู้ป่วยตลอดเวลา ย่อมถือว่ามีความเสี่ยงสูงที่สุด กว่ากลุ่มใดๆ
ในการออกรบจำเป็นต้องได้รับ”เกราะป้องกันที่ดีที่สุด” เพื่อให้เขาสามารถ “อยู่รอด” ปฏิบัติงานคุ้มครองผู้ป่วยได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เชื้อระบาดอย่างรุนแรงวิกฤต จนจำนวนบุคลากร ไม่เพียงพอ อยู่แล้ว
การติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ คนหนึ่งไม่เพียงทำให้เขาหยุดงาน แต่กลายเป็นภาระของผู้ร่วมงานที่ต้องปฏิบัติงานแทน ขึ้นเวรแทน ทำงานมากขึ้น
ในขณะที่หลายแห่งเพิ่มเตียงในตึกคนไข้ เพิ่มหน้าที่ไปดูแลโรงพยาบาลสนาม และเพิ่มไปออกหน่วยฉีดวัคซีน ตามที่ทุกท่านทราบดี ซึ่งทุกคนต่างเหน็ดเหนื่อยเต็มกำลังและล้ามากแล้ว
ยิ่งไปกว่านั้น ในหลายโรงพยาบาล วิกฤตจนต้องปิดหน่วยบริการ ปิด opd ปิดตึกผู้ป่วย ปิดห้องผ่าตัด ปิดห้องฉุกเฉิน กระทบต่อผู้ป่วยโดยตรง ทั้งที่ป่วยเป็น covid และไม่ใช่ covid ไม่สามารถเข้ารักษาพยาบาลได้ ส่วนหนึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตอย่าน่าเสียดาย
ในสภาวะปัจจุบันที่ผู้ป่วยจำนวนมากยังรอการรักษาพยาบาล รอเตียงที่บ้าน จน ภาครัฐต้องขยายโรงพยาบาลสนาม และ เตียงใน รพ.เพิ่มเติม ไม่หยุดหย่อน ซึ่งต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ เพิ่มขึ้น ทั้งสิ้น
ในสงครามครั้งนี้ เราจะสูญเสียบุคลากรทางการแพทย์อีกไม่ได้แล้ว ขอให้ผู้เกี่ยวข้องโปรดพิจารณาเพิ่มเกราะอย่างดี ให้กับนักรบเสื้อขาว โดย สนับสนุนให้จัดวัคซีนไฟเซอร์ ตามที่ประชุมส่วนหนึ่งให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ด่านหน้า เพื่อให้เขาไปดูแลประชาชนอย่างเต็มที่ด้วยครับ โปรดอย่าค้านเลยครับ
และขอเพิ่มวัคซีนคุณภาพสูง ที่จะปกป้องพวกเขาทุกคน จากเชื้อที่กลายพันธุ์ ที่จะระบาดในระยะต่อไป โดยเฉพาะกลุ่ม mRNA ให้กับบุคลากรทางการแพทย์เพิ่มเติมอย่างด่วนด้วยครับ
เพราะบุคลากรทุกคนคือกำลังสำคัญในการ ต่อสู้กับ covid-19 ครั้งนี้ หากไม่มีกำลังพวกเขา ชีวิตของประชาชนจะเข้าสู่ความเสี่ยงอันตรายอย่างหนัก ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤตจากสงครามโควิด ที่มีการสูญเสียชีวิตทุกวัน
ขอบคุณกรรมการทุกท่านครับ
หมออิทธพร
04.07.2564
#SAVEด่านหน้า #ด่านหน้าแตกไม่ได้
#ขอเสื้อเกราะอย่างดีให้หมอพยาบาลและเจ้าหน้าที่ด่านหน้า”
นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ แสดงความเห็นอกเห็นใจต่องานอายุรแพทย์
“ผมเคยทำงานในสถานะอายุรแพทย์อยู่เกือบสิบปี ราวน์วอร์ด อยู่เวรอีอาร์ และอยู่เวร 48 ชม
คิดถึงวันที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ ภรรยาดูแลลูกสองคนอยู่ที่บ้าน เราทำเพราะเป็นหน้าที่ มิได้คิดว่าแพทย์จะพิเศษกว่าใคร
วันนี้ อายุรแพทย์ทุกคนในประเทศกำลังตกอยู่ในความเสี่ยงสูง ซิโนแวคป้องกันการป่วยหนักและความตายนั้นเป็นที่ยืนยัน – เรารับทราบ แต่ป้องกันการติดเชื้อไม่ดีนัก
ถ้าแพทย์ติดเชื้อ ป่วย กักตัว ผลกระทบต่องาน ต่อผู้ป่วย ต่อภาระงานของหมอคนอื่นที่ยังไม่ป่วย ต่อภรรยา และต่อลูกที่บ้าน มันสูงมาก
เราปล่อยให้พวกเขาทำงานในสภาพแวดล้อมเช่นนี้ได้อย่างไร?
เราพอใจกับคำปลอบประโลมว่า “ซิโนแวคป้องกันการป่วยหนักได้คือโอเค” ได้อย่างไร?
ภรรยาของผมเคยทำงานที่ รพ เช่นกัน ถ้าตอนนั้นเธอติดเชื้อและถูกกักตัว 14 วัน ใครจะดูแลลูกๆที่บ้าน เรื่องนี้กำลังเกิดแก่ครอบครัวแพทย์ในทุกจังหวัด ในประเทศของเรา เรื่องนี้ไม่ปกติเป็นอย่างยิ่ง
เราปล่อยพวกเขาทำงานอยู่กับเชื้อโรคที่ทำอันตรายถึงชีวิตได้ โดยไม่มีเกราะป้องกันตัวได้อย่างไรกัน?
ระบบสาธารณสุขล่ม ไม่นับว่าการศึกษาและเศรษฐกิจล่มไปแล้ว คือทุกคนล่ม”
เรียบเรียงโดย #เหมียวเลเซอร์