วันที่ 6 กรกฎาคม 2564 ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ที่ปรึกษา ศบค. เป็นตัวแทนกระทรวงสาธารณสุขแถลงข่าวเรื่องวัคซีนโควิด-19
โดยในสถานการณ์ของประเทศไทยปัจจุบันพบว่ามีเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) ประมาณ 30% และคาดการณ์อีก 1-2 เดือนข้างหน้า ทั้งประเทศไทยและทั่วโลกจะเป็นสายพันธุ์เดลต้าส่วนใหญ่หรือทั้งหมด
ในส่วนของวัคซีนที่ใช้กันอยู่นั้นเป็นวัคซีนที่ผลิตมาจากเชื้อตัวดั้งเดิม ดังนั้นเมื่อนำวัคซีนมาใช้กับไวรัสกลายพันธุ์จึงทำให้มีประสิทธิภาพลดลง
จึงเป็นเหตุผลที่ว่าต้องหาวัคซีนตัวใหม่เข้ามาใช้เพื่อให้มีความครอบคลุมไวรัสกลายพันธุ์ ซึ่งต้องรอการพัฒนาจากผู้ผลิตอาจมาในปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า
สำหรับวัคซีนที่ใช้กันอยู่ กระทรวงสาธารณสุขยอมรับว่าวัคซีน mRNA สามารถกระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงที่สุดได้แก่ Pfizer และ Moderna มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นตั้งแต่หลักพันถึงหลักหมื่น
รองลงมาเป็น AstraZeneca อยู่ที่หลักพันต้นๆ ส่วน Sinovac นั้นอยู่ที่หลักหลายร้อยปลายๆ
ความสามารถในการป้องกันเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลต้านั้น วัคซีน Pfizer มีประสิทธิภาพลดลงจาก 93% เหลือ 88% ส่วน AstraZeneca ลดลงจาก 66% เหลือ 60%
นอกจากนั้นวัคซีน Pfizer สามารถป้องกันอาการเจ็บป่วยรุนแรงที่ต้องพักรักษาในโรงพยาบาลได้ถึง 96% สำหรับ AstraZeneca ป้องกันได้ 92%
ส่วน Sinovac นั้นข้อมูลน้อย ไม่มีข้อมูลที่สามารถระบุได้ว่าป้องกันได้เท่าไหร่ ทั้งนี้คิดว่าป้องกันสายพันธุ์เดลต้าได้ไม่ดี
แต่เมื่อฉีด 2 เข็มจะสามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงได้มากกว่า 90% โดยอ้างอิงจากข้อมูลต่างประเทศที่ใช้และเก็บข้อมูลที่จังหวัดภูเก็ต
ทั้งนี้ อยากให้ทำความเข้าใจว่าการฉีดวัคซีนไม่สามารถป้องกันได้ 100% แต่สามารถป้องกันการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตยังสูงมากแม้จะเป็น Sinovac ก็ตาม
“ท่านทั้งหลายอย่าไปกรุณาดาวน์เกรดซิโนแวค แม้จะรู้ว่าประสิทธิภาพการป้องกันมันน้อยก็จริง แต่มันลดเจ็บป่วยรุนแรงไม่ต่างจากแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์นัก ท่านฉีดไปก่อน
เมื่อมีเข็ม 3 มา ซึ่งมีเวลา 3-6 เดือนข้างหน้า แล้วท่านรอคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข” ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์อุดม คชินทร ระบุ
เรียบเรียงโดย #เหมียวเลเซอร์
ที่มา:
https://www.facebook.com/fanmoph/videos/493598311727565