ยังคงเป็นประเด็นที่หลายคนในสังคมกำลังวิจารณ์กันอย่างหนักถึงประสิทธิภาพวัคซีนที่รัฐนำเข้ามาฉีดให้กับประชาชน
โดยเฉพาะเรื่องคุณภาพของวัคซีน ‘ซิโนแวค’ หลังจากมีข้อมูลหลายแหล่งระบุว่าออกมาแล้วว่าภูมิคุ้มกันลดลงและไม่สามารถป้องกันไวรัสโควิดสายพันธุ์เดลต้าและอัลฟาได้มากพอ
ในระหว่างนี้ทางเพจ ไทยรู้สู้โควิด ก็ได้ออกมาโพสต์ให้ข้อมูลที่ระบุถึงกระทรวงสาธารณสุข เผยผลการศึกษาประสิทธิภาพการฉีดวัคซีนซิโนแวค 4 แหล่งด้วยกัน และมีผลป้องกันการติดเชื้อไวรัสมากถึง 90% และ 75%
หากลองตามอ่านคอมเมนท์ในโพสต์ดังกล่าวแล้ว ชาวเน็ตส่วนใหญ่ให้ความเห็นโต้แย้งกับสิ่งที่เพจไทยรู้สู้โควิดนำมาเสนอ ระบุว่าเข้าข่ายเป็นข่าวปลอม ประชาชนไม่อยากได้วัคซีนยี่ห้อนี้ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าประสิทธิภาพต่ำ
อีกทั้งยังทำการเปรียบเทียบได้ไม่ถูกต้อง ไม่ได้กล่าวถึงว่าพฤติกรรมของคนฉีดที่ทำเพื่อลดความเสี่ยง ภูมิคุ้มกันในตัว หากลองให้กลุ่มตัวอย่างไม่ใส่หน้ากากยังคงพอวัดประสิทธิภาพได้ว่าวัคซีนดีขนาดไหน
ก่อนหน้านี้มีข่าวออกมาแล้ว นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เซ็นคำสั่งถึงผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ขอความอนุเคราะห์นำเข้าวัคซีนซิโนแวคเพิ่มอีก 10.9 ล้านโดส
โดยได้งบประมาณจัดหาวัคซีนให้ประชาชนตามมติประชุม ครม. เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2564 จนทำให้ประชาชนเกิดความไม่พอใจกับการสั่งวัคซีนซิโนแวคเพิ่มทั้งที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่ายี่ห้ออื่น
ต่อมา นายวัชรพงศ์ คูวิจิตรสุวรรณ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขชี้แจงถึงการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคเพิ่มเติมว่าเป็นวัคซีนที่ผ่านการรับรองโดยองค์การอนามัยโลกและเป็นวัคซีนที่ COVAX จองซื้อเป็นจำนวนมาก
หากจะบอกว่าซิโนแวคแย่ ก็เท่ากับการที่องค์การอนามัยโลกกับ COVAX เลือกวัคซีนไม่มีคุณภาพมาฉีดให้ประชากรโลก
อีกทั้งยังย้ำผลการศึกษาของกระทรวงสาธารณสุข (ตามโพสต์ของเพจไทยรู้สู้โควิด) ที่พบว่าประสิทธิภาพป้องกันสายพันธุ์เดลต้ายังอยู่ที่ 75%
ตอนนี้ไทยกำลังนำเข้าวัคซีนหลายชนิด ทั้งทางหลักและทางเลือก แต่ตอนนี้ “เรารอไม่ได้ ในสมรภูมิรบ ชุดเกราะที่เอามาได้ก่อน ก็สมควรนำเข้ามา”
โดยในปัจจุบันไทยสั่งจองวัคซีนแอสต้าเซเนก้า 61 ล้านโดส, ซิโนแวค 19 ล้านโดส และไฟเซอร์ 20 ล้านโดส
คลิปข่าวรายการเที่ยงวันทันเหตุการณ์ วันที่ 22 กรกฎาคม 2564
เรียบเรียงโดย #เหมียวเลเซอร์