ย้อนกลับไปเล็กน้อยในช่วงกลางเดือนสิงหาคมในโลกโซเชียลได้มีข่าวกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ร้อนแรง เมื่อเมืองพัทยาได้จัดโครงการปรับภูมิทัศน์ชายหาดเหนือ-ใต้ ด้วยงบประมาณกว่า 166 ล้านบาท
โดยโครงการดังกล่าว ได้มีการระบุแผนดำเนินการส่วนหนึ่งไว้ว่ามีการถอนโค่นต้นไม้บางส่วนออก เพื่อทดแทนด้วยต้นปาล์ม อินทผลัม และมะพร้าว ซึ่งต่อมาได้ทำให้เกิดกระแสคัดค้านรุนแรง เพราะหนึ่งในต้นไม้ที่จะถูกถอนโค่นนั้นมันเป็น “ต้นหูกวาง” ซึ่งเป็นต้นไม้มีอายุ
เรื่องที่เกิดขึ้นนั้นทำให้ ในวันที่ 20 สิงหาคม 2021 ดร.พรเทพ เหมือนพงษ์ อาจารย์คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หนึ่งในรุกขกรของไทยที่ผ่านการรับรองระดับนานาชาติ ต้องออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเรื่องที่เกิดขึ้นเลยว่า
“โครงการปรับภูมิทัศน์โดยจะรื้อถอนต้นไม้เดิมออกเพื่อสร้างพื้นที่สีเขียวแบบใหม่ที่มีต้นปาล์มและอินทผาลัมเป็นไม้หลัก มูลค่า 166 ล้านบาท ที่นายกเมืองพัทยาให้เหตุผลว่า
‘ต้นไม้สร้างปัญหาเมื่อเกิดลมแรงมักจะหักโค่น ลูกและใบต้นหูกวางจะร่วงลงพื้นและได้สร้างปัญหาในกลุ่มผู้ประกอบการเรื่อยมา จึงจำเป็นต้องปรับแต่งในส่วนที่หักโค่นและปลูกเพิ่มเพื่อให้เกิดความงดงาม’
อ่านแล้วได้แต่ถอนหายใจพร้อมสบถคำเดิม ๆ ในใจ
1. ต้นหูกวาง เป็นไม้ที่ขึ้นอยู่ทั่วไปตามชายหาด มีรากที่แข็งแรงโดยเฉพาะหากเป็นต้นไม้ที่ปลูกตั้งแต่ต้นเล็ก ๆ จากข้อมูลพบว่าต้นหูกวางที่หาดพัทยาปลูกไว้ 2 ครั้ง คือ 2508 และ 2512 นับถึงตอนนี้ก็อายุ 52-56 ปี
ต้นไม้ที่อยู่มาได้ขนาดนี้น่าจะพัฒนาระบบรากได้ดีกว่าการเอาต้นไม้ขุดล้อมที่มีตุ้มดินเล็ก ๆ มาปลูก ยิ่งเป็นปาล์ม หรือมะพร้าวแบบนั้นเสี่ยงกว่าเยอะ ยิ่งสูงยิ่งต้องทำค้ำยันมากมาย
2. หูกวางเป็นไม้ผลัดใบที่จะทิ้งใบพร้อม ๆ กันทั้งต้น และผลิใบใหม่ในเวลาสั้น ๆ ในมุมของคนทำความสะอาดการเก็บใบขนาดใหญ่ที่ร่วงพร้อมกันน่าจะสะดวกในการเก็บกวาดกว่าใบเล็ก ๆ ที่ปลิวไปทั่ว
3. เรือนยอดของหูกวางแผ่กว้างให้ร่มเงาแก่คนเดินบนทางเท้า ร้านค้า แผงลอยริมถนน ผมว่าคนไทยต้องการร่มเงาจากต้นหูกวางมากกว่าแสงแดดจากการปลูกปาล์มแบบหาดไมอามีนะ
ไหนจะความร้อนที่สะท้อนจากทางเท้าอีก แค่คิดภาพอุณหภูมิเดือนเมษาก็ไม่อยากเดินแล้ว
4. หูกวางไม่ใช่ไม้เนื้อแข็ง แต่ความแข็งอ่อนของเนื้อไม้กับการหักของกิ่งบางทีมันก็ไม่ได้ไปทางเดียวกัน จาก ปสก. กิ่งหูกวางไม่ได้หักง่ายขนาดนั้น ออกไปทางเหนียวด้วยซ้ำ
ไม่งั้นมันคงไม่ขยายเรือนยอดอยู่ริมทะเลได้ 56 ปี หรอกครับ ส่วนการหักของกิ่งกระโดง (watersprout) ต้องโทษคนตัดอย่าไปโทษต้นไม้
5. เมืองอื่นเค้ามีแต่รักษาต้นไม้ใหญ่ดั้งเดิมเอาไว้ให้เป็น Heritage tree คู่บ้านคู่เมือง ต้นไม้คือหน้าตาของเมือง ไม่มีที่ไหนเค้าขุดต้นไม้สวยๆ ออกแล้วปลูกปาล์มแข็งมะลื่อทื่อแบบนี้ ถ้าจะปลูกใหม่ให้ได้จริงๆ มีไม้ไทยแท้ๆ ที่ขึ้นอยู่ริมหาดได้อีกหลายชนิด
เช่น กระทิง มะเกลือ เกด โพทะเล พะยอม หรือแม้แต่ตะเคียนทอง หรือยางนา ตัวเลือกเยอะแยะ แต่มาปลูกอินทผาลัมเนี่ยนะ
6. เหตุผลหนึ่งของการโค่นคือต้นไม้อยู่ในสภาพทรุดโทรมจนหมดสภาพ อยากรู้เหมือนกันว่าหมดสภาพคือสภาพยังไง ใครเป็นคนตัดสิน ใช้ criteria อะไร
ลองเปรียบเทียบภาพในตำแหน่งเดียวกัน สังเกตเสาไฟ และ รร.ฮิลตัน ด้านหลัง ภาพแรกจาก gg street view กับภาพที่ 2 (ภาพจาก FB คุณ Chairat Rattanopas) ตอนโค่นออก ตรงไหนคือหมดสภาพ??
.
7. ความสวยงามเป็นเรื่องของปัจเจก ซึ่งผมชอบหูกวาง ผมว่ามันเป็นต้นไม้ที่มีรูปทรงสวยที่สุด และในแง่ function ของการเป็นต้นไม้ในเมืองผมว่ามันเป็นตัวเลือกอันดับแรก ๆ ที่นึกถึง
แต่สำหรับแบบที่กำลังจะทำ (ภาพที่ 3) มองหา sense of aesthetic ไม่เจอ แข็ง แห้งแล้ง ร้อน มองยังไงก็ไม่เจอความงดงามใด ๆ แต่ข้อนี้ใครจะว่าสวยก็ไม่ว่ากัน แล้วแต่
8. ถึงต้นไม้มันพูดไม่ได้ แต่อย่างน้อยก่อนจะตัดสินใจทำอะไร ถามชาวบ้านแถวนั้นหน่อยก็ยังดีว่าเขาอยากได้มั้ย ถ้าไปถามชาวบ้านไมอามี่ เค้าอาจจะอิจฉาที่พัทยามีต้นหูกวางก็ได้นะ
9. ภาพสุดท้ายน่าจะแสดงความสัมพันธ์ลึกซึ้งระหว่างผมกับต้นหูกวางได้เป็นอย่างดี ถ้าให้เลือกปีนต้นไม้ได้แค่ 1 ชนิด ชนิดที่ผมเลือกคือต้นหูกวาง
ซึ่งสำหรับเรื่องนี้ต่อมานายสนธยา คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยาได้ออกมายืนยันว่าโครงการปรับภูมิทัศน์หาดพัทยานั้น ให้ความสำคัญการอนุรักษ์แนวต้นไม้เป็นหลักอยู่แล้ว
โดยในการปรับปรุงตามแผนงานหลังการขยายถนนจะต้องทำการขยับต้นไม้ไปตามแนวฟุตปาธใหม่ โดยเน้นการใช้ต้นไม้เดิมกว่า 75%
“ส่วนต้นหูกวาง หรือต้นไม้ที่มีการตัดตกแต่งหรือถอนโค่นนั้น เป็นต้นไม้ที่มีการสำรวจแล้วว่าเป็นต้นที่ตายซากเหลือแต่ตอ หรือมีปัญหาการผุกร่อน ไม่ใช่เป็นการรื้อถอนโค่นทั้งหมด”
อย่างไรก็ตาม พัทยาพร้อมรับฟังความคิดเห็นและยังจะจัดให้มีการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นร่วมกันได้แม้จะมีการจัดซื้อจัดจ้างไปแล้วก็ตาม
ที่มา เฟซบุ๊ก Ponthep Meunpong, sanook และ mgronline