จากกรณีที่เกิดขึ้นเป็นประเด็นร้อนเมื่อวันที่ 4 เมษายน 2564 หลังจากโทนี่ วูดซัมได้กล่าวถึงเรื่องวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท Pfizer นั้นได้มีการนำเข้ามาในประเทศไทยแล้ว
แต่อยู่ในรูปแบบที่มีการจำกัดจำนวนหรือรูปแบบเบิกใช้ฉุกเฉินนั้น ทำให้บนโลกออนไลน์ตื่นตัวและตั้งคำถามกันอย่างมากมายในช่วงเมื่อคืนที่ผ่านมา
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: สรุปดราม่า “วัคซีน Pfizer – Moderna เข้าไทย” คนไทยสงสัยทำไมไม่ได้ฉีด เถียงกันยาว!!
เกี่ยวกับเรื่องนี้ในวันที่ 5 เมษายน 2564 นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวยืนยันว่าไม่มีการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์แต่อย่างใด
วัคซีนที่มาขึ้นทะเบียนแล้วมีอยู่ 3 ราย คือ แอสตราเซเนกา, โคโรน่าแวก (ซิโนแวก) โดยมีองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เป็นผู้ขึ้นทะเบียน และ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก
ในส่วนของวัคซีนที่กำลังอยู่ในระหว่างประเมินคือ โมเดอน่า โดย ซิลลิค ฟาร์มา จำกัด
และพบการยื่นเอกสารอีก 2 ตัว เพื่อขึ้นทะเบียน คือ โคแวคซีน โดย ไบโอเจเนเทค จำกัด และ สปุกนิก โดย คินเจน ไบโอเทค จำกัด ที่ยังยื่นเอกสารไม่ครบ เมื่อยื่นครบจะประเมินให้จบภายใน 30 วัน
สำหรับขั้นตอนการนำเข้าวัคซีนนั้น บริษัทไฟเซอร์ประเทศไทยต้องยื่นขออนุญาตนำเข้า ยื่นขึ้นทะเบียน และต้องขออนุญาตอย. ที่สำคัญขณะนำเข้ามาต้องผ่านด่านอาหารและยา โดยจากการตรวจสอบไม่พบบริษัทไฟเซอร์นำเข้ามา
“บริษัทไฟเซอร์ยังไม่ได้มีการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 เข้ามา กลไกในการนำเข้ามาบริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย จะต้องยื่นเป็นผู้ขอรับอนุญาตนำเข้า ขออนุมัติยื่นขึ้นทะเบียน
เมื่อได้รับทะเบียนแล้วก็จะต้องให้ผู้ได้รับอนุญาต ทำเรื่องขออนุญาตกับ อย. เพื่อนำเข้าอีกครั้ง และเมื่อจะเข้ามาก็ต้องผ่านด่านอาหารและยาจากกองยา
ซึ่งขณะนี้ตรวจสอบแล้วว่า ไม่พบวัคซีนของไฟเซอร์เข้ามา และได้สอบถามไปที่บริษัทไฟเซอร์ ประเทศไทย เขาก็ยืนยันว่า ยังไม่ได้มีการยื่นขึ้นทะเบียน อยู่ในระหว่างการเจรจา ซึ่งจะมายื่นขึ้นทะเบียนเร็วๆ นี้
ดังนั้น เขาก็จะไม่สามารถนำสินค้าเข้ามาได้ และทางบริษัท ไฟเซอร์ ยืนยันว่า มีนโยบายขายวัคซีนให้กับภาครัฐเท่านั้น”
ภาพจาก NYTimes Coronavirus Vaccine Tracker
เมื่อมีการสอบถามว่าบางเว็บไซต์เผยแพร่ข้อมูลการนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์เข้ามาใช้ในไทยในภาวะฉุกเฉิน นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการ อย. ระบุว่า…
จากการสอบถามจากบริษัทไฟเซอร์ระบุว่า ไม่ใช่ข้อมูลของบริษัทฯ และไม่มีเว็บไซต์ลักษณะนั้น คาดว่าบริษัทฯ จะแถลงชี้แจงรายละเอียดเพิ่มเติม