เมื่อวานนี้ (31 พฤษภาคม) ได้เกิดเป็นประเด็นขึ้นมาในการประชุมสภาผู้แทนราษฏร ที่มีการร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566
หลังจากที่นายกลุงตู่ ได้เข้าร่วมประชุม และมีตอนหนึ่งที่เจ้าตัวชี้แจงฝ่ายค้านถึงเรื่องหนี้ครัวเรือน หนี้สาธารณะ หนี้ต่างๆ ว่า…
“ตั้งแต่ปี 54 โครงการจำนำข้าว ขาดทุน 9.5 แสนล้านบาท รัฐบาลชุดนี้ตั้งงบประมาณชำระหนี้ไปแล้ว 7.8 แสนล้านบาท คงเหลือเงินต้นและดอกเบี้ยอีก 3 แสนล้านบาท” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
จากคำพูดดังกล่าว ทำให้ล่าสุด ดร.เดชรัต สุขกำเนิด ผู้อำนวยการ Think Forward Center นักวิชาการอิสระด้านเศรษฐศาสตร์การเกษตร อดีตอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ได้ออกมาโต้แย้งคำพูดดังกล่าวของนายกลุงตู่ โดยระบุว่า นายกบอกความจริงออกมาไม่หมด โทษแต่คนอื่น
ดร.เดชรัต สุขกำเนิด
โดย ดร.เดชรัต ได้ค้นตัวเลขออกมาชี้แจงให้ได้อ่านกันแบบเข้าใจง่ายๆ ดังนี้…
หนี้จำนำข้าว จริงหรือไม่?
มีเพื่อนสอบถามมาเยอะว่า สิ่งที่นายกฯ กล่าวในสภาฯ เมื่อวานนี้ เกี่ยวกับหนี้จำนำข้าวเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน? ถ้าจะตอบสั้นๆ ก็มีทั้ง “จริง” “ไม่จริง” และ “พูดไม่หมด”
ก่อนอื่นเรามาเริ่มต้นกันที่คำกล่าวของนายกฯ กันก่อน ส่วนที่นายกฯ กล่าวในสภาฯ คือ
“ถ้าพูดเรื่องข้าวที่พูดว่างบวันนี้เป็นงบในอดีตไม่ใช่อนาคต ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โครงการจำนำข้าว ขาดทุนกว่า 9.5 แสนล้านบาท รัฐบาลนี้ตั้งงบชำระหนี้ไปแล้ว 7.8 แสนล้านบาท คงเหลือเงินต้น และดอกเบี้ยอีก 3 แสนล้านบาท เงินตรงนี้ถ้าอยู่เอามาทำอะไรได้อีกเยอะ ถามว่าใครทำเอาไว้ ผมก็ไม่อยากจะพูด ไม่อยากจะย้อนกลับ”
คราวนี้ เรามาดูข้อเท็จจริง 10 ประการ จากงบการเงินประจำไตรมาส ล่าสุดของ ธกส. งวดวันที่ 31 ธันวาคม 2564 (หรือปลายปีที่แล้ว) และเอกสารร่างบประมาณประจำปี 2566 กัน
ในรายงานงบการเงินฉบับดังกล่าวระบุว่า
หนึ่ง การจำนำสินค้าเกษตรทุกประเภท ตั้งแต่ปี 2551-2557 ใช้เงินไป 960,665.35 ล้านบาท ย้ำว่า “ใช้เงินไป” ไม่ใช่ “หนี้” อย่างที่นายกฯ กล่าว
สอง เมื่อใช้ไปแล้ว หากมีการไถ่ถอนหรือขายผลผลิตออกไป เงินนั้นก็จะกลับเข้ามานะครับ ซึ่งจนกระทั่งถึงปัจจุบัน เงินนั้นกลับเข้ามาแล้ว 403,508.36 ล้านบาท ครับ
สาม เพราะฉะนั้น ส่วนที่ขาดทุน และเหลือเป็น “หนี้” ที่ต้องชำระจริงๆ คือ 557,157 ล้านบาทครับ
(ซึ่งก็ไม่น้อยนะครับ แต่ตัวเลขที่นายกฯ กล่าวไม่ใช่ตัวเลขที่ถูกต้องครับ)
สี่ จาก 557,157 ล้านบาท รัฐบาลมีการโอนงบประมาณเพื่อชำระหนี้ไปแล้ว 276,462 ล้านบาท ไม่ใช่ 781,000 ล้านบาท อย่างที่นายกฯ กล่าว
ผมเข้าใจว่า นายกฯ เอาตัวเลขที่ไถ่ถอน/ขายผลผลิตไปรวมด้วย จึงได้ตัวเลขที่คลาดเคลื่อนเกินจริงเช่นนั้น
ห้า หนี้ที่เหลือคงค้างอยู่จึงเหลือประมาณ 280,694 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับที่นายกฯ กล่าว
หก ในปีงบประมาณ 2566 นี้ รัฐบาลก็ตั้งงบประมาณชำระหนี้ส่วนนี้อีก 26,649 ล้านบาท ซึ่งถ้าตั้งชำระในอัตรานี้ คาดว่า หนี้จากจำนำข้าวน่าจะอยู่กับระบบงบประมาณไปอีกกว่า 10 ปี
เจ็ด สิ่งที่นายกฯ ไม่ได้กล่าวก็คือ ในช่วงเวลา 2-3 ปี ระหว่างปี 2562-2564 รัฐบาลปัจจุบัน (ไม่นับรวมรัฐบาล คสช.) ได้สร้างหนี้เพิ่มจากโครงการประกันรายได้เกษตรกร สินเชื่อเพื่อชะลอการขายข้าว และอื่นๆ อีกอย่างน้อย 247,250 ล้านบาท
ขอย้ำว่า นายกฯ ไม่ได้กล่าวถึง “หนี้ที่รัฐบาลตนเองก่อ 247,250 ล้านบาท ในช่วงเวลา 3 ปี เลย”
แปด จากหนี้ โครงการประกันรายได้เกษตรกรและอื่นๆ 247,250 ล้านบาท รัฐบาล ตั้งชำระหนี้ที่ตนเองก่อไว้ในปีงบประมาณ 2566 นี้ 44,212 ล้านบาท
เก้า เมื่อรวมทุกรัฐบาลที่ผ่านมา มูลหนี้จากนโยบายรัฐบาลที่รัฐบาลติดค้าง ธกส. ไว้ในปัจจุบัน เท่ากับ 887,831.3 ล้านบาทสิบ ถ้านำเงินเกือบ 900,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลเป็นหนี้ ธกส. ไว้ มาเทียบกับงบประมาณที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พบว่า หนี้ดังกล่าวเท่ากับ 7 เท่าของงบประมาณของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ได้รับในปีงบประมาณ 2566
นี่คือสิ่งที่คุณพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เรียกว่า ระบบงบประมาณแบบ “ช้างป่วย”
สรุปสั้นๆ สุด (ก) หนี้จำนำข้าวมีอยู่จริง (ข) แต่ไม่ได้มากที่ประยุทธ์กล่าว (ค) ที่สำคัญ ประยุทธ์สร้างหนี้เพิ่มขึ้นอีก เท่าๆ กับหนี้จำนำข้าวที่เหลืออยู่เดิม (ง) ประยุทธ์ไม่กล่าวถึงหนี้ที่รัฐบาลตนเองก่อขึ้น (จ) ประยุทธ์โทษแต่คนอื่น (หรือรัฐบาลที่ผ่านมา)เราไม่อาจยอมรับ “รัฐบาลที่ไม่บอกความจริงให้ครบถ้วนได้อีกต่อไป” มิฉะนั้น ประเทศจะป่วยยิ่งกว่านี้
#คว่ำงบประมาณประจำปี2566
โพสต์ต้นทาง
.
.