มีการรายงานข่าวจากสื่อไทยหลายสื่อตรงกัน เรื่องประกาศราชกิจจานุเบกษาฉบับล่าสุด ที่รายงานฐานะการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย
โดยมีใจความสำคัญว่า..
“รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประกาศรายงานฐานะการเงินประจําสัปดาห์ ของธนาคารแห่งประเทศไทยทุนสํารองเงินตรา และกิจการธนบัตร รวมจํานวน 3 สัปดาห์
ได้แก่ งวดประจําสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ.2564 งวดประจําสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันพฤหัสบดีที่ 28 มกราคม พ.ศ.2564 และงวดประจําสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันพฤหัสบดีที่ 4 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564 แนบท้ายประกาศนี้ประกาศ”
ซึ่งสื่อมวลชน พบตัวเลขที่น่าสนใจก็คือตัวเลขขาดทุนสะสม 1,069,366,246 ล้านบาท (1.06 ล้านล้านบาท) ทำให้กลายเป็นกระแสดังบนโลกออนไลน์ไปในทันที
แบงค์ชาติ ชี้แจงประเด็นตัวเลขขาดทุนทางบัญชี
อย่างไรก็ตาม ในประเด็นเรื่องข่าวขาดทุนสะสม ที่กลายเป็นกระแสไวรัลมาในหลายๆ ครั้ง ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (แบงค์ชาติ) ได้เคยออกมาชี้แจงเรื่องดังกล่าวใน 5 ข้อ
ซึ่งหลักๆ ก็คือ เป็นการขาดทุนทางบัญชี โดยยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าถ้าเราแลกเงินมา 30 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ
วันรุ่งขึ้นเงินดอลลาร์อ่อนค่า เหลือเพียง 28 บาท ต่อ 1 ดอลลลาร์สหรัฐฯ ก็เท่ากับการขาดทุนทางบัญชีไป 2 บาท
พร้อมกับคำอธิบายโดยละเอียดอีก 5 ข้อ ซึ่งประกอบไปด้วย…
1. ธปท. ไม่ได้เก็งกำไรค่าเงิน
ธปท. เข้าไปซื้อเงินตราต่างประเทศ เพื่อป้องกันไม่ให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเร็วเกินควร จนอาจจะเป็นผลเสียต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ยังเปราะบาง
เมื่อ ธปท. ซื้อเงินตราต่างประเทศแล้ว ก็บริหารเงินสำรองระหว่างประเทศด้วยความรอบคอบโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ระยะยาว และเปิดเผยตัวเลขฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศทุกสัปดาห์
2. เงินสำรองระหว่างประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากเงินตราต่างประเทศที่ไหลเข้ามาในประเทศไทยมาก
ทั้งจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดสูงต่อเนื่องมาหลายปี และการเข้ามาลงทุนของนักลงทุนต่างประเทศ
3. เมื่อเงินบาทแข็งค่าขึ้น จึงเกิดการขาดทุนจากการตีราคา (valuation loss)
หรือ การขาดทุนทางบัญชี และในทางตรงข้าม ถ้าเงินบาทอ่อนค่าลง เงินสำรองฯ ที่ตีมูลค่าเป็นเงินบาทก็จะเพิ่มขึ้น (valuation gain) หรือมีกำไรทางบัญชี
โดยปกติเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ค่าเงินมีแนวโน้มแข็งขึ้น ธนาคารกลางก็มักจะขาดทุนจากการตีราคา แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ดี ค่าเงินอ่อนค่าลง ส่งผลให้ธนาคารกลางมักจะมีกำไรจากการตีราคา
4. เงินสำรองระหว่างประเทศต้องเก็บอยู่ในรูปเงินตราต่างประเทศ
เพื่อให้มั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยมีเงินตราต่างประเทศเพียงพอ สำหรับรองรับการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ การไปลงทุนในต่างประเทศของคนไทย และเป็นกันชนรองรับการไหลออกของเงินทุน ซึ่งเกิดขึ้นได้จากทั้งโดยนักลงทุนไทยและนักลงทุนต่างชาติ และปัจจุบัน เงินสำรองฯ ของไทยอยู่ในระดับมั่นคงเพียงพอ ซึ่งต่างจากสถานการณ์ในช่วงปี 2540
5. เงินสำรองฯ ที่ ธปท. ซื้อเข้ามายังอยู่ในรูปของเงินตราต่างประเทศ
ไม่ได้เสื่อมคุณภาพลงเมื่อเวลาผ่านไปเหมือนกับสินค้าเกษตรหรือสินค้าโภคภัณฑ์ที่บทความนำไปเปรียบเทียบ
มูลค่าของเงินสำรองระหว่างประเทศในรูปของเงินบาทจะเปลี่ยนแปลงได้ทั้งเพิ่มขึ้นและลดลงตามอัตราแลกเปลี่ยน การขาดทุนจากการตีราคาทางบัญชี ไม่ได้แปลว่าเงินสำรองฯ ที่ ธปท. ถืออยู่จะด้อยค่าลงเรื่อยๆ
เงินสำรองระหว่างประเทศของไทย
ทีมงานแคทดั๊มบ์หาข้อมูลเพิ่มเติม พบว่าล่าสุดในสิ้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทยมีเงินสำรองระหว่างประเทศอยู่ทั้งสิ้น 8,767,975 ล้านบาท
โดยส่วนใหญ่จะเก็บสะสมในรูปแบบของสินทรัพย์ต่างประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และสกุลเงินอื่นๆ นั่นเอง
ในขณะที่หนี้สาธารณะของไทย ปัจจุบันตัวเลขเดือนเมษายนที่ผ่านมา ระบุว่าอยู่ที่ 8,472,186 ล้านบาท
เรียบเรียง #ประธานเหมียว
ที่มา:
ธปท. แจง 5 ข้อเท็จจริงกรณีข่าวผลขาดทุนในโซเชียลมีเดีย – ย้ำ ไม่ได้เก็งกำไรค่าเงิน
www.bot.or.th/App/BTWS_STAT/statistics/BOTWEBSTAT.aspx?reportID=80&language=TH