นับตั้งแต่สมัยโบราณ มนุษย์เราก็ล้วนแต่ที่จะตามหาวิธีการที่จะมีชีวิตยืนยาว ไม่ว่าจะเป็นจักรพรรดิแห่งตะวันตกหรือฮ่องเต้แห่งตะวันออก แทบทุกคนก็ล้วนแต่จะอยากมีชีวิตอยู่ให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ทั้งนั้น
แต่เคยสงสัยกันไหมว่าในทางทฤษฎีแล้ว ขีดจำกัดของอายุมนุษย์นั้นอยู่ที่กี่ปีกัน? นั่นเพราะเมื่อล่าสุดนี้เองทีมนักวิจัยก็เพิ่งจะออกมาระบุว่า มนุษย์เรานั้นอาจมีชีวิตอยู่ได้นานที่สุดอยู่ที่ประมาณ 150 ปีก็เป็นได้
การค้นพบในครั้งนี้ได้รับการตีพิมพ์ในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมา โดยทีมนักวิจัยเชื้อสายรัสเซีย จากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพ “เจโร” (Gero) ในสิงคโปร์
หลังจากที่พวกเขาทำการวิเคราะห์ผลตรวจนับเม็ดเลือดของประชากรวัยต่างๆ กัน 500,000 คน ทั้งจากใน สหรัฐฯ อังกฤษ และรัสเซีย เพื่อวัดสัดส่วนและขนาดของเม็ดเลือดที่ร่างกายผลิตออกมา
ซึ่งผลของความแตกต่างกันของเม็ดเลือดบางชนิดจะสามารถเผยให้เราเห็นการสูญเสียความยืดหยุ่น ความทนทาน และความสามารถในการฟื้นตัวของร่างกายต่อภาวะความเจ็บป่วย หรือบาดแผลต่างๆ ได้
โดยในการวิจัยคครั้งนี้ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบว่าโดยเฉลี่ยแล้วความสามารถในการฟื้นตัวของมนุษย์จะหมดลงไปย่างสิ้นเชิงในช่วงอายุ 120 – 150 ปี
ในขณะที่ ผู้ที่มีอายุมากกว่า 80 ปี โดยมากแล้วจะเสียความสามารถในการฟื้นตัวไป มากจนพวกเขาต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวจากอะไรก็ตามที่สร้างภาระให้แก่ร่างกายนานกว่าคนอายุ 40 ปีถึง 3 เท่าเลย
“การแก่ชราในมนุษย์ แสดงให้เห็นลักษณะที่เป็นสากล
ของระบบร่างกายอันซับซ้อนที่ทำงานอยู่บนความเสี่ยง
ของการสลายหายไปในสักวันของพวกเรา”
Peter Fedichev ร่วมก่อตั้งและซีอีโอของบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพเจโรระบุ
และงานวิจัยที่ออกมานี้ก็เรียกได้ว่าเป็นคำอธิบายอย่างดีเลยว่าทำไม แม้แต่การป้องกันและรักษาโรคที่เกี่ยวข้องกับวัยที่ดีที่สุด ก็ทำได้เพียงแค่ทำให้ “อายุโดยเฉลี่ย” ของผู้คนเพิ่มขึ้น ไม่ได้ทำให้ “อายุขัยสูงสุด” ของมนุษย์เราเพิ่มขึ้นเลยนั่นเอง
ที่มา scientificamerican, cnet, springernature และ bbc